รองศาสตราจารย์ ดร.วัชรพล วิบูลยศริน รองผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษา บริการวิชาการ และสื่อสารองค์กร และอาจารย์ประจำหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาและการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดเผยถึงวิกฤติทักษะทางภาษาของเด็กไทยจากในรอบทศวรรษที่ผ่านมา พบว่ามีคะแนนสอบ ONET วิชาภาษาไทย และภาษาอังกฤษต่ำกว่ามาตรฐานในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่อง
สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งเกิดจากการเรียนรู้แบบเดิมที่เน้นแต่วิชาการแบบท่องจำในห้องเรียน ทำให้เด็กขาดความรู้ความเข้าใจ และทักษะชีวิต เนื่องจากไม่มีโอกาสเรียนรู้นอกห้องเรียน หรือประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง
มหาวิทยาลัยมหิดล โดย สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย จึงได้ริเริ่มสร้างสรรค์ และพัฒนาแอปพลิเคชันสอนภาษาไทยและภาษาอังกฤษสำหรับยุวชนยุคดิจิทัล โดยได้รับการตอบรับตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ ซึ่งเป็นวารสารที่อยู่ในฐานข้อมูล Scopus "Q1"
เนื้อหาในแอปพลิเคชัน ออกแบบด้วยหลักการ "Scenario Based Learning" ซึ่งเป็นการเรียนรู้โดยอิงเนื้อหาของหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ เน้นการสร้างสถานการณ์จำลองต่างๆ สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นยุวชนในระดับชั้นประถมศึกษาตอนต้น อาทิ "ภาษาพาสนุก" (Language Fun) "ฉันและครอบครัวของฉัน" (My Family and I) "โรงเรียนของเรา" (Our School) "สิ่งแวดล้อมรอบตัว" (Surrounding Environment) "กิจกรรมในเวลาว่าง" (Activity in Leisure Time)
"โลกของอาหารและเครื่องดื่ม" (World of Food and Drink) เป็นโมดูลหลักที่ออกแบบไว้อย่างน่าสนใจ โดยสอดคล้องกับบทบาทความเป็น "มหาวิทยาลัยแห่งสุขภาวะ" ของมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งชี้ให้เห็นทั้ง "อาหารสุขภาพ" ซึ่งได้แก่ผัก ผลไม้ และ "อาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ" ได้แก่ Junk food หรืออาหารขยะ ที่อุดมไปด้วยน้ำตาล ไขมัน และ เกลือเป็นต้น
โดยปัจจุบันแอปพลิเคชันเปิดให้ดาวน์โหลดแล้วบนระบบปฏิบัติการ iOS เฉพาะผู้ใช้ iPad เท่านั้น เนื่องจากการเรียนรู้ผ่านหน้าจอสำหรับยุวชนควรมีขนาดมากกว่า 10 นิ้ว เพื่อสุขภาพสายตาที่ดีในระยะยาว และเตรียมจะพัฒนาขยายผลต่อยอดสู่กลุ่มเป้าหมายที่เป็นนักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาตอนปลาย และเพื่อการเรียนรู้ภาษาไทยสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเพื่อเป็นการสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศไทยต่อไป
ที่มา: มหาวิทยาลัยมหิดล