วันพฤหัสบดีที่ 6 กรกฎาคม 2566, กรุงเทพมหานคร: นางนภา เศรษฐกร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม เป็นประธานเปิดงานประชุมสมัชชาวิสาหกิจเพื่อสังคม ประจำปี 2566 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยได้รับเกียรติจากสมาชิกวุฒิสภา 3 ท่าน ได้แก่ ท่านสุวรรณี สิริเวชชะพันธ์ รองประธานคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และการอุตสาหกรรมและประธานคณะอนุกรรมาธิการการลงทุนและเศรษฐกิจฐานราก, ท่านพลเอก วีรัณ ฉันทศาสตร์โกศล ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ และรองประธานคณะอนุกรรมาธิการการลงทุนและเศรษฐกิจฐานราก คนที่หนึ่ง และ ท่านสาธิต เหล่าสุวรรณ โฆษกคณะกรรมาธิการ และรองประธานคณะอนุกรรมาธิการการลงทุนและเศรษฐกิจฐานราก คนที่สอง พร้อมด้วยที่ปรึกษา อีกทั้งภาคีเครือข่ายที่สำคัญต่อการขับเคลื่อนวิสาหกิจเพื่อสังคมเข้าร่วมด้วยโดย นางนภา เศรษฐกร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม กล่าวว่า การจัดประชุมสมัชชาวิสาหกิจเพื่อสังคมจะมีขึ้นอย่างน้อย 1 ครั้งต่อปี เพื่อเป็นหนึ่งกลไกในการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม
โดยปีที่ผ่านมาเราได้พบประเด็นที่น่าสนใจ 6 ประเด็น สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจได้เชื่อมโยงประเด็นต่างๆ นำมาเป็นนโยบาย ในการขับเคลื่อนตลอดจนสร้างความแข็งแรงให้กับวิสาหกิจเพื่อสังคม ซึ่งในปีนี้ ประเด็นในการหารือภายในงานได้มีการกลั่นกรองประเด็นจากการลงพื้นที่ติดตามและการจัดการสนทนาแบบกลุ่ม (Focus Group) โดยได้ประเด็น 4 ประเด็นดังนี้ แนวทางการสร้างการรับรู้สำหรับวิสาหกิจเพื่อสังคม แนวทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของวิสาหกิจเพื่อสังคม แนวทางการสร้างผลกระทบเพื่อสังคมสำหรับวิสาหกิจเพื่อสังคม แนวทางการสร้างกำลังคนเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงให้วิสาหกิจเพื่อสังคม ซึ่งประเด็นต่าง ๆ จะทำให้วิสาหกิจเพื่อสังคมพัฒนาอย่างยั่งยืน
นางนภา กล่าวต่อว่า งานประชุมสมัชชาฯ ในวันนี้ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีในการขับเคลื่อนวิสาหกิจเพื่อสังคม โดยทางสมาชิกวุฒิสภา ท่านสุวรรณี สิริเวชชะพันธ์ รองประธานคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และการอุตสาหกรรมและประธานคณะอนุกรรมาธิการการลงทุนและเศรษฐกิจฐานราก ได้มีการสนับสนุนให้ความช่วยเหลือในด้านของการขับเคลื่อนด้านนิติบัญญัติและการนำข้อเสนอความคิดเห็นของวิสาหกิจเพื่อสังคมทั่วประเทศนำไปปรับปรุงแก้ไขในส่วนของกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องของกองทุนวิสาหกิจเพื่อสังคมให้สามารถขับเคลื่อนต่อไปได้งานประชุมสมัชชาวิสาหกิจเพื่อสังคม ประจำปี 2566 ในครั้งนี้มีการออกบูธแสดงสินค้าและนิทรรศการจำนวน 15 บูธ เพื่อเป็นตัวอย่างและสร้างการรับรู้ถึงการมีอยู่ของวิสาหกิจเพื่อสังคม โดยงานประชุมสมัชชาฯ ถือเป็นแรงกระเพื่อมให้สังคมตระหนักถึงการพัฒนาธุรกิจเพื่อสังคมอย่างยั่งยืน เพื่อพัฒนาฐานรากเศรษฐกิจของประเทศ นางนภา กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา: เอฟวายไอ บางกอก