ข้อตกลงนี้ทำผ่านบริษัท Temple Generation Intermediate Holdings II, LLC1 ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ BPP ส่งผลให้ BPP สามารถเพิ่มกำลังผลิตตามสัดส่วนการลงทุนได้ราว 378 เมกะวัตต์
นายกิรณ ลิมปพยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "การลงทุนในครั้งนี้สอดคล้องกับกลยุทธ์ Greener & Smarter ของ BPP และนับเป็นก้าวสำคัญในการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องในประเทศยุทธศาสตร์ การเข้าซื้อกิจการดังกล่าวยังเป็นการต่อยอดระบบนิเวศทางธุรกิจของ BPP ซึ่งปัจจุบันกำลังขยายไปยังหน่วยธุรกิจอื่น ๆ ตลอดห่วงโซ่คุณค่าทั้งหมดในตลาดสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple I ตลาดซื้อขายไฟฟ้าเสรี ERCOT (Electric Reliability Council of Texas) ซึ่งเป็น 1 ใน 7 ผู้นำของตลาดซื้อขายไฟฟ้าที่มีอัตราการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในสหรัฐฯ นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการขายไฟฟ้าให้กับลูกค้าครัวเรือน (Power Retail) อีกด้วย
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาถึงโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple I ที่มีอยู่เดิม รวมถึงทำเลที่ตั้งที่ใกล้เคียงกันของโรงไฟฟ้า Temple I และ Temple II ทำให้เราสามารถผสานพลังและสร้างคุณค่าร่วมกัน ช่วยให้การดำเนินการและบริหารจัดการโรงไฟฟ้ามีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่งผลให้การผลิตไฟฟ้ามีความยืดหยุ่นและมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น สามารถคว้าโอกาสในการทำกำไรได้มากขึ้นในตลาดไฟฟ้าเสรี รวมไปถึงการบริหารจัดการทรัพยากรร่วมกันเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด นำไปสู่การดำเนินธุรกิจที่สามารถบริหารต้นทุนต่อหน่วยได้ต่ำลงและสร้างผลตอบแทนได้สูงขึ้นในที่สุด (Economies of Scale)"
สำหรับจุดเด่นของโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple II แบ่งได้เป็น 4 ข้อหลัก คือ 1) เป็นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ใช้เทคโนโลยี Combined Cycle Gas Turbines (CCGT) ที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูง มีความยืดหยุ่นสูง และอยู่ในลำดับการเรียกจ่ายไฟฟ้า (merit order) ที่ดี ซึ่งสอดรับกับสภาพตลาดและการแข่งขันในตลาดซื้อขายไฟฟ้าเสรีของ ERCOT อีกทั้งมีการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการควบคุมการปล่อยมลสาร ด้วยเหตุนี้ Temple II จึงถือเป็นหนึ่งในผู้นำโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในสหรัฐอเมริกา 2) มีกำลังผลิตไฟฟ้าที่สามารถรองรับการใช้ไฟฟ้าได้ประมาณ 750,000 ครัวเรือนทั่วรัฐเท็กซัสตอนกลาง จึงมีบทบาทสำคัญในการจ่ายไฟฟ้าเพื่อตอบสนองความต้องการของภูมิภาคดังกล่าว 3) ตั้งอยู่ในตำแหน่งยุทธศาสตร์ที่เอื้อให้สามารถจำหน่ายไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยตอบสนองความต้องการของตลาดซื้อขายไฟฟ้าเสรีที่มีการเปลี่ยนแปลงแบบเรียลไทม์ และยังอยู่ในทำเลเดียวกันกับโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple I จึงส่งเสริมประสิทธิภาพในการผลิต การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ตลอดจนทำให้ BPP มีโอกาสสร้างกำไรในตลาดซื้อขายไฟฟ้าเสรีได้ 4) การมีกำลังผลิตเพิ่มขึ้นนี้ช่วยเสริมข้อได้เปรียบของ BPP ในการบริหารจุดคุ้มทุนและการกระจายความเสี่ยงที่ครอบคลุมตลอดห่วงโซ่คุณค่าธุรกิจไฟฟ้าของบริษัทฯ
"การลงทุนครั้งนี้ คาดว่าจะรับรู้รายได้ภายในไตรมาส 3/2566 ทั้งนี้ BPP ยังคงมุ่งมั่นแสวงหาโอกาสการลงทุนในโรงไฟฟ้าที่ใช้เทคโนโลยี HELE ซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในประเทศยุทธศาสตร์ทั้ง 8 แห่งอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างการเติบโตอย่างสมดุลของพอร์ตธุรกิจทั้งจากพลังงานความร้อน (Thermal Power Business) และจากพลังงานหมุนเวียน (Renewable Power Business) และเดินหน้าขยายกำลังผลิตสู่เป้าหมาย 5,300 เมกะวัตต์ภายในปี 2568" นายกิรณกล่าวสรุป
ที่มา: เอบีเอ็ม คอนเนค