การเมืองไทยเดินทางมาถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่ง นับจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค. ที่ผ่านมา ที่พรรคก้าวไกล และ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้รับคะแนนเสียงมากเป็นอันดับ 1 กว่า 14 ล้านเสียง และเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล หลังจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาตั้งแต่ปี 2557 รวมเป็นเวลาเกือบ 9 ปี
นับถอยหลังอีกเพียงไม่กี่ชั่วโมง กำหนดการประชุมรัฐสภา เพื่อโหวตนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 13 ก.ค. 2566 ก็จะเริ่มต้นขึ้น ท่ามกลางกระแสบนโซเชียลมีเดีย ซึ่งมีความคิดเห็นที่หลากหลาย ทั้งกองเชียร์ กองแช่ง
ทีม Insight ของ บริษัท ดาต้าเซ็ต จำกัด ได้รวบรวมความคิดเห็นในสังคมออนไลน์ผ่าน DXT360 แพลตฟอร์มติดตามข่าวสารและเสียงของผู้บริโภค (Social Listening) ระหว่างวันที่ 5-12 ก.ค. 2566 เพื่อฟังเสียงโซเชียลว่าพูดคุยในประเด็นใดบ้าง หรือ มีความคาดหวังต่อการเมืองและอนาคตของประเทศไทยอย่างไร ? ก่อนการโหวตนายกรัฐมนตรี สรุปได้ดังนี้
เสียงโซเชียลต่อความหวังก่อนโหวตนายกรัฐมนตรีคนที่ 30
- อยากเห็น 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล สนับสนุนส่ง 'พิธา' เป็นนายกรัฐมนตรี (65.7%)
- เรียกร้อง ส.ว. เคารพเสียงประชาชน, ให้ ส.ว. ทำหน้าที่และอำลาตำแหน่งอย่างภาคภูมิ (22.4%)
- เรียกร้อง ส.ส. ขั้วตรงข้าม เป็น ส.ส. ปลดแอก โหวตสนับสนุน 'พิธา' แม้จะไม่ได้ร่วมรัฐบาลเพื่อปกป้องประชาธิปไตยให้เดินหน้า ( 6.9% )
- ยินยอมให้พรรคก้าวไกลถอย 1 ก้าว ไม่แก้ไขมาตรา 112 เพื่อให้ได้รับโหวตเป็นนายกรัฐมนตรี ( 3.0%)
- สิ้นหวัง..ยอมให้เกิดรัฐบาลเสียงข้างน้อย 1 ปี จนกว่า ส.ว. หมดวาระ ( 1.0%)
- ลากยาว 'โหวตนายก' ไปเรื่อยๆ จนกว่าหมดวาระ ของ ส.ว. ( 1.0 %)
จากการฟังเสียงบนสังคมออนไลน์นอกจากประเด็นเรื่องการเมือง สิ่งที่น่าสนใจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน คือ ตัวตนของ 'นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์' ที่ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ในเชิงบวกหรือเชิงลบก็ตาม 'พิธา' เพียงคนเดียว สร้างมูลค่าทางสื่อ (Media Value) ที่เกิดขึ้นบนเว็บไซต์ต่าง ๆ ไปแล้วกว่า 1,186 ล้านบาท และในฝั่งของโซเชียลมีเดียสร้าง Buzz (Mention และ Engagement) สูงถึง 5,019,891 ครั้ง คิดเป็นอัตราการเติบโต (Growth Rate) เพิ่มขึ้นกว่า 73.4% ในระหว่างวันที่ 5 - 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา
สุดท้ายแล้ว นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 จะชื่อ "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" หรือไม่ ? ขึ้นอยู่กับผลการลงมติจากที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งทุกคนจะได้รู้พร้อมกันทั่วประเทศในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า
ข้อมูลบางส่วนที่นำมาวิเคราะห์หา Insight รวบรวมมาจาก DXT360 แพลตฟอร์มติดตามข่าวสารและเสียงของผู้บริโภค (Social Listening) ของ บริษัท ดาต้าเซ็ต จำกัด (dataxet:infoquest)
ที่มา: ดาต้าเซ็ต