นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า เนื่องด้วยกระทรวงมหาดไทยได้ประกาศเจตนารมณ์การขับเคลื่อนประเทศไทยที่ยั่งยืนร่วมกับองค์การสหประชาชาติ (UN) เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2565 ประกอบกับทุกจังหวัดได้ประกาศเจตนารมณ์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ในการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรดิน จึงได้กำชับทุกหน่วยงานในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ดำเนินการขับเคลื่อน DPT Change for good สู่ความยั่งยืน ภายใต้แนวคิด "อาหารก่อกำเนิด เกิดจากดิน" (Soils, where food begins) เนื่องในโอกาสวันดินโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี และได้กำหนดให้เดือนมิถุนายน - กรกฎาคม 2566 เป็นเดือนแห่งการสร้างความตระหนักรู้ (Awareness Month) เพื่อแสดงออกถึงเจตนารมณ์ในการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรดินที่เป็นรูปธรรม กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ตระหนักถึงความสำคัญ ในการร่วมกันเปลี่ยนแปลง เพื่อให้เกิดสิ่งที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน จึงได้จัดกิจกรรมการทำปุ๋ยหมักจากผักตบชวา ซึ่งเป็นการนำผักตบชวาที่เป็นปัญหากีดขวางแม่น้ำลำคลอง มาใช้ประโยชน์ตามแนวทาง Change for good ในการเปลี่ยนขยะในแม่น้ำ สู่การบำรุงรักษาดินอย่างยั่งยืน
ในการนี้ กรมฯ ได้จัดนิทรรศการให้ความรู้เรื่องการทำปุ๋ยหมักจากผักตบชวาพร้อมสาธิตวิธีการเพื่อให้ประชาชนที่เข้าร่วม ได้มีความรู้ความเข้าใจ สามารถนำสูตรการทำปุ๋ยหมักกลับไปปรับสัดส่วนตามความเหมาะสมและนำไปต่อยอดในพื้นที่การเกษตรได้ด้วยตนเอง โดยใช้ผักตบชวา มูลสัตว์ และสารเร่ง ซุปเปอร์ พด.1 เริ่มต้นด้วยขั้นตอนที่ 1 คือนำผักตบชวาที่ผึ่งไว้แล้ว 2 สัปดาห์มากองให้สูง 30 - 40 เซนติเมตร ย่ำให้พอแน่นและรดน้ำให้ชุ่ม ขั้นตอนที่ 2 นำมูลสัตว์โรยที่ผิวหน้าผักตบชวา ขั้นตอนที่ 3 ผสมสารเร่งซุปเปอร์ พด. 1 จำนวน 1 ซองผสมน้ำ 20 ลิตร คนให้เข้ากัน 10 - 15 นาที จากนั้นนำมาราดใส่กองปุ๋ยหมัก ขั้นตอนที่ 4 นำผักตบชวา มูลสัตว์ มากองทับอีก 2 - 3 ชั้นและราดด้วยน้ำผสมสารเร่งซุปเปร์ พด.1 ทีละชั้น ขั้นตอนที่ 5 นำผักตบชวาปิดทับที่ชั้นบนสุด เพื่อป้องกันการสูญเสียความชื้น และหมักต่อไปเป็นเวลา 2 เดือน โดยจะต้องกลับกองปุ๋ยหมักทุก 15 วัน เพื่อเป็นการระบายอากาศ เพิ่มออกซิเจน และช่วยให้วัสดุคลุกเคล้าเข้ากัน ในกรณีที่กองปุ๋ยหมักเกิดการทับถมและมีกลิ่นเหม็น ให้ใช้น้ำหมักชีวภาพที่ผลิตจากสารเร่ง ซุปเปอร์ พด.2 หรือ ซุปเปอร์ พด.6 จำนวน 1 ซองผสมน้ำ 10 ลิตร ฉีดพ่นในระหว่างการหมักทุกวัน จนกว่ากลิ่นจะหายไป เมื่อปุ๋ยหมักเสร็จสมบูรณ์แล้ว สีของวัสดุเศษพืช จะมีสีน้ำตาลเข้มจนถึงดำ ลักษณะของวัสดุเศษพืช จะมีลักษณะอ่อนนุ่ม ยุ่ย ไม่มีกลิ่น และอุณหภูมิภายในและภายนอกกองปุ๋ยจะใกล้เคียงกัน สังเกตจากการเจริญเติบโตของพืชบนกองปุ๋ยหมัก จากนั้นจึงจะสามารถนำไปเก็บรักษาไว้ในโรงเรือน หลบแดดและฝนได้ โดยประโยชน์ของปุ๋ยหมักจากผักตบชวา มีอินทรียวัตถุ ทำให้ดินร่วนซุย รากพืชเจริญเติบโต มีธาตุอาหารที่จำเป็นต่อพืช ทำให้ต้นพืชเจริญเติบโตได้ดี สามารถดึงคาร์บอนในอากาศกลับสู่ดิน ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ซึ่งกรมฯ จะนำปุ๋ยหมักที่ได้จากการสาธิตในครั้งนี้มาแจกจ่ายให้กับส่วนงานและบุคลากรภายในกรมได้ทดลองใช้เป็นกลุ่มแรก
สำหรับกิจกรรมปลูกต้นไม้และสาธิตการห่มดินท่านอธิบดีได้ปลูกต้นมะม่วง และปฏิบัติตามวิทยากรในการสาธิตวิธีการห่มดิน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิธีการในการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรดินได้เป็นอย่างดี สามารถป้องกันการระเหยของความชื้นที่อยู่ในดินและเป็นที่อาศัยของจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ ป้องกันการเจริญเติบโตของวัชพืชในแปลงปลูก เพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดิน หรือเป็นการปรับปรุงดินก่อนการเพาะปลูก ทั้งยังทำให้จุลินทรีย์ในดินมีความอุดมสมบูรณ์ ถ้าเปลือยดินไว้อาจทำให้จุลินทรีย์ตาย ต้นไม้เจริญได้ไม่ดีพอ ซึ่งโดยปกติการ "ห่มดิน" หรือ "คลุมดิน" จะใช้ฟาง เศษหญ้า หรือใบไม้ที่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ ในครั้งนี้กรมฯ ได้เลือกใช้ผักตบชวา วัชพืชน้ำที่สามารถกักเก็บความชื้นได้ดีมาห่มดินรอบโคนต้นไม้ ถือเป็นการหมุนเวียนทรัพยากรให้ใช้ประโยชน์ได้อย่างสูงสุด
ที่มา: กรมโยธาธิการและผังเมือง