ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพานิช รัฐมนตรีช่วยฯ เปิดเผยว่า การหารือในครั้งนี้ เกิดจากการที่เลขาธิการสหภาพสหกรณ์แห่งชาติของสาธารณรัฐอินเดีย (National Cooperative Union of India : NUIC) ได้เล็งเห็นความสำคัญและความสำเร็จด้านภาคการเกษตรของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ในการทำเกษตรสมัยใหม่ (Smart Farmer) การบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร (หลักสูตรชลกร) โครงการเกษตรประณีตทฤษฎีใหม่ ภายใต้แนวคิด "ทำเกษตรบนเนื้อที่ 1 ไร่ มีรายได้ 100,000 บาท ต่อเดือน (เฉลี่ยทั้งปี)" ซึ่งโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ขับเคลื่อนผ่าน วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเกษตร (วษท.) ภายใต้สาขาวิชาช่างกลเกษตร สาขางานบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร (ชลกร) โดยการนำทฤษฎี และแนวทางการบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นหลักในการพัฒนาหลักสูตร ซึ่งผู้เรียนจะมีความรู้เกี่ยวกับกระบวนการเบื้องต้นของอุตุนิยมวิทยาและอุทกวิทยา สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการน้ำชุมชน เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และเก็บกักน้ำไว้ใช้ทำการเกษตรได้ และโครงการเกษตรประณีตทฤษฎีใหม่ ในรูปแบบเกษตรรวมกลุ่ม เกษตรนวัตกรรมเกษตรปลอดภัยเกษตรแปรรูป เกษตรเทคโนโลยี และเกษตรพอเพียง จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก มีกลุ่มเป้าหมาย ผู้ว่างงาน ประชาชนผู้มีรายได้น้อย ผู้ได้รับผลกระทบจาก Covid-19 ซึ่งกำลังเคลื่อนย้ายการทำงานสู่ภาคการเกษตรเป็นจำนวนมาก สอศ. จึงส่งเสริมให้เกษตรกรได้นำความรู้เพื่อการผลิตผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพตามหลักความรู้และวิชาการตลอดจนการต่อยอดด้านการตลาดเพื่อการสร้างรายได้และพัฒนาอย่างยั่งยืน
ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าวต่ออีกว่า นอกจากการหารือดังกล่าวแล้ว สอศ. จะนำเลขาธิการสหภาพสหกรณ์แห่งชาติของสาธารณรัฐอินเดีย (National Cooperative Union of India : NUIC) พร้อมคณะ เข้าเยี่ยมชมวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีบุรีรัมย์ ในวันที่15 กรกฎาคม 2566 เพื่อแสดงให้เห็นถึงการจัดการเรียนการสอนด้านการเกษตรและองค์ความรู้ด้านต่าง ๆ ที่มีประสิทธิภาพ ต่อไป
ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา