ทั้งนี้ สำนักงานเขตฯ ได้ตรวจวัดระดับเสียงรบกวน โดยตั้งเครื่องวัดระดับเสียงบริเวณหลังบ้านผู้ร้อง ซึ่งเป็นจุดที่ใกล้เคียงกับแหล่งกำเนิดเสียง ขณะตรวจวัดระดับเสียง ผู้ถูกร้องได้เปิดวิทยุแบบพกพาที่มีกำลังไฟฟ้า ขนาด 0.7 วัตต์ และเครื่องเล่นเพลงบลูทูธ รวมถึงการเล่นกีต้าร์โปร่งในระดับเสียงที่เปิดปกติเป็นประจำทุกวัน จำนวน 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 9 มี.ค.64 (ครั้งที่ 1) และเมื่อวันที่ 4 เม.ย.65 (ครั้งที่ 2) โดยผลการตรวจวัดและการคำนวณค่าระดับเสียงรบกวนทั้งสองครั้ง มีค่าไม่เกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศกรมอนามัย เรื่องกำหนดมาตรฐานเหตุรำคาญ กรณีเสียงรบกวน และตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม ฉบับที่ 29 (พ.ศ. 2550) เรื่องค่าระดับเสียงรบกวน กำหนดให้ระดับการรบกวนมากกว่า 10 เดซิเบลเอ เป็นเสียงรบกวน (ผลการตรวจวัดไม่เป็นเหตุรำคาญ) และได้แจ้งผลการตรวจสอบให้ผู้ร้องทราบแล้ว ต่อมาเมื่อวันที่ 28 ต.ค.65 และวันที่ 3 พ.ย.65 สำนักงานเขตฯ ได้ติดตามสอบถามจากผู้พักอาศัยใกล้เคียง จำนวน 4 หลังคาเรือน ให้ข้อมูลว่าไม่ได้รับความเดือดร้อนจากบ้านหลังดังกล่าว พร้อมลงลายมือชื่อและหมายเลขโทรศัพท์ไว้เป็นหลักฐาน
ทั้งนี้ สำนักงานเขตฯ ได้ติดตามผลครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 29 มิ.ย.66 ไม่พบการก่อให้เกิดเสียงดังตามแจ้งแต่อย่างใด โดยสำนักงานเขตฯ พิจารณาแล้ว กรณีเรื่องร้องเรียนดังกล่าวได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงตามขั้นตอนของกฎหมายแล้ว และจากการตรวจวัดระดับเสียงไม่เกินค่ามาตรฐาน จึงไม่เข้าข่ายเหตุรำคาญ ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุขฯ รวมถึงการสอบถามประชาชนผู้อยู่อาศัยข้างเคียงไม่มีผู้ใดได้รับความเดือดร้อน การเปิดวิทยุที่ไม่รบกวนผู้อื่น หรือการกระทำในเรื่องต่าง ๆ ตามที่ผู้ร้องเรียน เป็นวิถีการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ถูกร้องเรียน ซึ่งสามารถกระทำได้
ตามสิทธิเสรีภาพที่กฎหมายให้กระทำ ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้ชี้แจงข้อกฎหมายเกี่ยวกับเหตุรำคาญให้ผู้ร้องเรียนทราบแล้ว
ที่มา: กรุงเทพมหานคร