โมเดล "รักษ์โลก คัดแยก แลกเงิน"
ณ โรงเรียนมักกะสันพิทยาดำเนินการด้วยวิธีการออกแบบเชิง ปฏิบัติการ โดยหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้เชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านการคัดแยกขยะจากสาขาอาชีพต่าง ๆ มาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับทางโรงเรียน เพื่อออกแบบแนวทางการคัดแยกขยะที่เหมาะสมกับบริบททางสิ่งแวดล้อมของพื้นที่ จนตกผลึกออกมาเป็นกระบวนการกำจัดขยะที่เหมาะสม โดยโรงเรียนมักกะสันพิทยามีเป้าหมายในการลดค่าจ่ายในการจัดการแยกขยะของโรงเรียน และมุ่งหวังให้นักเรียนได้เรียนรู้การทำงานและบริหารจัดการโครงการตลอดจนเรียนรู้การจัดการค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการเพื่อนำความรู้ไปต่อยอดเป็นอาชีพในอนาคต โมเดล "รักษ์โลก คัดแยก แลกเงิน" เริ่มจากการจัดตั้ง "ธนาคารขยะ" ขึ้นมาเพื่อสร้างระบบการคัดแยกขยะภายใต้แนวคิดเชื่อมโยงปลายทางกับผู้รับจัดการขยะประเภทต่าง ๆ อาทิ หน่วยงานเขต ร้านรับซื้อขยะ เครือข่ายสังคม เป็นต้น
โดยคณะภาคีเครือข่ายได้เข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนโครงการตั้งแต่ต้นน้ำไปยังปลายน้ำกล่าวคือได้มีการจัดตั้งคณะทำงานที่มีประสบการณ์และความรู้ในการจัดการขยะอย่างยั่งยืน เข้ามาทำงานร่วมกับครู และนักเรียนของโรงเรียนมักกะสันพิทยาอย่างใกล้ชิด โดยเริ่มจากการจัดให้มีการอบรมให้ความรู้ในการคัดแยกขยะพื้นฐานให้แก่นักเรียน และยังได้มีการเชิญวิทยากรผู้มีประสบการณ์จากหน่วยงานภายนอก อาทิ ตัวแทนจากชุมชนมักกะสัน, Refil Station, EcoX และตัวแทนจากสำนักงานเขตราชเทวี เข้ามาพูดคุยสร้างแรงบันดาลใจและแชร์ ประสบการณ์ในการสร้างรายได้จากการคัดแยกขยะเพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้แก่นักเรียนอีกด้วย
นอกจากนั้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้คณะทำงานในโรงเรียนทางหน่วยงานภาคีได้มีการจัดทำถังใส่ขยะโดยมีการออกแบบป้ายแบ่งประเภทขยะโดยเน้นให้มีการใช้ภาพถ่ายขยะจริงประกอบกับตัวหนังสือที่ระบุประเภทขยะที่ต้องการคัดแยก เพื่อให้ง่ายต่อการรับรู้และสะดวกในการนำไปใช้ซ้ำตลอดจนการนำไปขายต่ออีกด้วย ทั้งนี้นักเรียนรุ่นแรกที่ได้เข้าร่วมโครงการดังกล่าวได้มีการแบ่งแยกหน้าที่ในการทำงานอย่างชัดเจนโดยในทุก ๆ วันนักเรียนที่มีหน้าที่คัดแยกขยะจะทำการคัดแยกขยะตามประเภทเพื่อนำไปส่งต่อให้กับกลุ่มนักเรียนที่ทำการจัดการขยะเพื่อจัดเตรียมขยะและคัดแยกแบ่งประเภทเพื่อรอให้ฝ่ายประสานงานนำไปส่งต่อให้กับหน่วยงานภายนอกที่รับซื้อต่อไป โดยเมื่อโครงการ "รักษ์โลก คัดแยก แลกเงิน" ได้ถูกทดลองใช้ในโรงเรียนมักกะสันพิทยาได้สำเร็จแล้วคาดว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงปริมาณขยะรีไซเคิล และขยะที่นำไปใช้ซ้ำได้ในทางที่ดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการลดค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะ และเกิดรายได้ให้กับโครงการ และสามารถนำโมเดลดังกล่าวไปใช้กับโรงเรียน และชุมชนอื่น ๆ โดยรอบได้อย่างยั่งยืน
ที่มา: เอเชีย เอรา วัน