โอกาสนี้ องคมนตรี และคณะ วปอ. รุ่น 56 ได้มอบโรงเรือนเพาะชำ บ่อกักเก็บน้ำ กล้าไม้ และจักรยาน ให้แก่ผู้แทนเกษตรกรและเยาวชน พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการและการสาธิตการเพาะเห็ดไมคอร์ไรซาและรับมอบถังขยายชีวภัณฑ์/ถังน้ำ ขนาด 1,000 ลิตร จำนวน 5 ชุด จาก วว. ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่สามารถตอบโจทย์ให้กับเกษตรกร ผู้ประกอบการ ในการขยายชีวภัณฑ์ที่มีคุณภาพมาตรฐาน ให้เพียงพอกับการใช้ประโยชน์ด้านเกษตรกรรม ในการนี้ผู้เข้าร่วมกิจกรรม พร้อมเกษตรกรในพื้นที่ ได้ปลูกไม้เศรษฐกิจผสมกับการปลูกไม้ป่าโตเร็วร่วมกับการเพาะเชื้อเห็ดไมคอร์ไรซา ซึ่ง วว. สนับสนุนองค์ความรู้และเทคโนโลยี โดยมีพื้นที่ปลูกรวมทั้งสิ้น 21 ไร่
"...กิจกรรมเพื่อสังคมดังกล่าวสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของมูลนิธิโครงการหลวง ที่ต้องการส่งเสริมให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในการปลูกและดูแลรักษาต้นไม้อย่างยั่งยืน ขอขอบคุณทุกภาคส่วน ทั้งนักศึกษา วปอ. รุ่น 56 ที่เป็นแกนหลักในการจัดกิจกรรม รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับประเทศ ด้วยการส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ได้ปลูกพืชเศรษฐกิจและไม้มีค่า หรือพืชเศรษฐกิจในชุมชนไปพร้อมๆ กับการเพาะเห็ดไมร์คอไรซา ในรูปแบบของวนเกษตรอินทรีย์ ซึ่งเป็นวิธีการที่เหมาะสม ทำให้ชุมชนลดการใช้สารเคมี สามารถสร้างรายได้จากการเก็บเกี่ยวผลผลิต สร้างความมั่นคงด้านอาหารชุมชน และระบบนิเวศป่า
นอกจากการสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชน โดยให้ชุมชน เกษตรกร เป็นส่วนหนึ่งในการดูแลรักษาป่าแล้ว โครงการฯ ยังได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้พี่น้องเกษตรกรในพื้นที่ห่างไกลและเยาวชนได้รับความรู้ทั้งในด้าน การเพาะกล้าไม้ การเพาะเชื้อเห็ด การผลิตสารชีวภัณฑ์ ตลอดจนระดมทุนสร้างสิ่งก่อสร้างสำหรับใช้สาธารณประโยชน์ ในรูปแบบโรงเรือน บ่อกักเก็บน้ำ และมอบจักรยาน ซึ่งชุมชนสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างต่อเนื่อง โครงการ วปอ. 56 ปลูกป่าฯ ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่เป็นต้นแบบในการปลูกป่าบนพื้นที่สูง สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนและเกษตรกรได้อย่างเป็นรูปธรรม และจะเป็นการดียิ่งหากสามารถต่อยอดและขยายพื้นที่การปลูกป่าแบบมีส่วนร่วมนี้ ไปยังพื้นที่อื่นๆ ของโครงการหลวง หรือพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การดำเนินโครงการฯ ที่ทรงคุณค่าเช่นนี้ จะเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนในการเพิ่มพื้นที่สีเขียว และสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรในพื้นที่สูง ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป..." พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ กล่าว
ดร.ชาคริต ศึกษากิจ ประธานกรรมการนักศึกษา วปอ. รุ่น 56 กล่าวว่า วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่น 56 เล็งเห็นว่า ปัจจุบันพื้นที่ป่าไม้ของประเทศไทยมีปริมาณลดลง นอกจากจะส่งผลต่อสภาพดิน ฟ้า อากาศ แล้ว ยังส่งผลกระทบต่อสภาพความเป็นอยู่และความยั่งยืนด้านอาหาร ดังนั้นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวจึงเป็นแนวทางหนึ่งในการปัญหาดังกล่าว กอปรกับ มูลนิธิโครงการหลวง มียุทธศาสตร์ในการเพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยเน้นความร่วมมือกับหน่วยงานภาคีต่างๆ ในการส่งเสริมให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในการปลูกป่า ดูแลรักษาต้นไม้อย่างยั่งยืน เพื่อสร้างรายได้ โดยปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตมาสู่การปลูกพืชยืนต้น หรือไม้ป่าเศรษฐกิจที่ให้ผลผลิตในระยะยาว จากความสำคัญนี้โครงการ วปอ.56 ปลูกป่าวนเกษตรอย่างมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน จึงได้เกิดขึ้นจากการร่วมแรงร่วมใจของ นักศึกษา วปอ. รุ่น 56 รวมถึงการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากมูลนิธิโครงการหลวง รวมถึงผู้สนับสนุนจากภาครัฐ เอกชน ทั้งในส่วนกลางและในพื้นที่ ที่ทำให้โครงการฯ ดำเนินงานลุล่วงไปด้วยดี
นายสมหวัง บุญระยอง รองผู้ว่าการราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า จังหวัดเชียงรายกำหนดวิสัยทัศน์ "เชียงรายเมืองแห่งความสุข สะอาด ปลอดภัย น่ายล" หนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญของจังหวัดมุ่งเน้นการการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ ดำรงความสมบูรณ์และยั่งยืน โดยเน้นการเพิ่มจำนวนพื้นที่สีเขียว ตลอดจนการเพิ่มประสิทธิภาพบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ/หมอกควันไฟ โครงการฯ ที่เกิดขึ้นในวันนี้เป็นโครงการที่ดีและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับจังหวัดเชียงราย นอกจากนี้ยังได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในพื้นที่สูง นับเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน และจะเป็นการชักจูงให้เกษตรกรไม่ตัดไม้ทำลายป่า ช่วยลดการเผาป่า รวมถึงช่วยลด PM 2.5 อย่างเป็นรูปธรรมด้วย
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. ในฐานะประธานคณะทำงานด้านกิจกรรมเพื่อสังคมของนักศึกษา วปอ. รุ่น 56 กล่าวว่า โครงการ วปอ. 56 ปลูกป่าวนเกษตรอย่างมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน มีระยะเวลาดำเนินโครงการ 3 ปี (ปี 2566-2568) มีเป้าหมายปลูกป่าแบบผสมผสาน จำนวน 21 ไร่ ในพื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยน้ำริน โดยเน้นการปลูกพืชเศรษฐกิจ อาทิ ลำไย มะม่วง อาโวกาโด และกาแฟ ผสมกับการปลูกไม้ป่าโตเร็ว ร่วมกับการเพาะเชื้อเห็ดไมคอร์ไรซา ให้เติบโตเป็นพื้นที่ป่าเศรษฐกิจที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นแหล่งอาหารและสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน มุ่งส่งเสริมการปลูกป่า เพื่อสร้างอาชีพทางเลือก สร้างรายได้ให้กับเกษตรกร อีกทั้งเป็นการสร้างรายได้ด้วยเศรษฐกิจสีเขียวจากการอนุรักษ์ผืนป่า ด้วย "คาร์บอนเครดิต" ตามแนวทางของรัฐบาล รวมถึงการเพิ่มศักยภาพของเยาวชนหรือเกษตรกรเพื่อการประกอบอาชีพที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ภายใต้ระบบวนเกษตร ด้วยกระบวนการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วม ส่งเสริมการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรจากระบบการเกษตรและป่าไม้อย่างยั่งยืน เสริมสร้างและสนับสนุนศักยภาพเยาวชนในการเรียนรู้และสร้างอาชีพที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
"...นอกจากการปลูกป่าแล้ว โครงการฯ ยังได้จัดสร้าง "โรงเรือน" สำหรับเพาะกล้าไม้ป่าชุมชน เพื่อปลูกฝังให้เยาวชนมีส่วนร่วมในการช่วยรักษาป่า โดยเยาวชนจะได้รับการอบรมให้สามารถเพาะกล้าไม้ป่ารวมทั้งไม้ผลหลากหลายชนิด นอกจากนี้ ยังเป็นสถานที่สำหรับถ่ายทอดเทคโนโลยีเกษตรวิถีใหม่ อาทิ เทคโนโลยีการเพาะพันธุ์กล้าไม้ การเพาะเชื้อเห็ดไมคอร์ไรซา การผลิต "ชีวภัณฑ์" ทดแทนการใช้สารเคมี รายได้จากกิจกรรมที่เกิดขึ้น จะถูกนำไปต่อยอดในการผลิตกล้าไม้ เกิดเป็นรายได้หมุนเวียนกลับเข้าสู่ชุมชน นอกจากนั้นโครงการฯ ยังได้จัดสร้าง บ่อกักเก็บน้ำ จำนวน 2 บ่อ และมอบถังเก็บน้ำ เพื่อกักเก็บน้ำให้เกษตรกรมีน้ำเพียงพอสำหรับช่วงฤดูแล้ง รวมถึงได้มอบจักรยานสำหรับให้นักเรียนไว้ใช้เป็นสาธารณประโยชน์ด้วย หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการเริ่มต้นกิจกรรมในวันนี้ จะนำไปสู่การเพิ่มพื้นที่สีเขียว และการสร้างประโยชน์ให้แก่ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนต่อไป..." ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต กล่าว
ที่มา: สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย