รองศาสตราจารย์ ดร.สุตเขตต์ นาคะเสถียร ประธานเครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย (RUN) เปิดเผยว่า มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ซึ่งจัดโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นเวทีระดับชาติที่นำเสนอความก้าวหน้าผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่มีคุณภาพ เพื่อเชื่อมโยงบูรณาการองค์ความรู้ไปสู่การใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ ซึ่งปีนี้จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 18 แล้ว โดยในทุกๆ ปี เครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย (RUN) ได้นำผลงานวิจัยของ 8 มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศไทย ประกอบด้วย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ มหาวิทยาลัยนเรศวร เข้าร่วมแสดงนิทรรศการมาโดยตลอด ซึ่งพันธกิจหลักของ RUN คือ มุ่งเน้นการประสานความร่วมมือและสร้างความเข้มแข็งในการวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพ และสร้างขีดความสามารถทางการศึกษา วิจัยและพัฒนา ของประเทศและยกระดับสู่ภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งประสานความร่วมมือในการพัฒนาศักยภาพนักวิจัย บัณฑิตศึกษา นักศึกษาและบุคลากรทางการวิจัยในการร่วมกันดำเนินงานทางด้านการวิจัย การแลกเปลี่ยนและใช้ทรัพยากร ตลอดจนปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยในระหว่างพันธมิตรการวิจัย รวมถึงสร้างและขยายเครือข่ายความร่วมมือด้านการวิจัยกับมหาวิทยาลัย ภาครัฐ ภาคเอกชนหรือเครือข่ายอื่นๆ และถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีสู่สังคม ภาคผลิตและภาคบริการ
เนื่องจากเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) เป็นเป้าหมายที่ท้าทายและสำคัญของโลกรวมทั้งประเทศไทยด้วย เพื่อตอบสนองต่อนโยบายของประเทศและมุ่งสู่เป้าหมายร่วมกันในการลดก๊าซเรือนกระจกในภาพรวม เครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัยได้กำหนดให้มีการจัดกิจกรรมนิทรรศการแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรม ภายใต้ Theme "Roles of Research towards Net Zero Ambitions" โดยมีนักวิจัยชั้นนำซึ่งมีความเชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับ Net Zero Emissions ร่วมนำเสนอผลงานวิจัยในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2566 กว่า 19 ผลงาน โดยหัวข้อหลักในการนำเสนอครอบคลุมงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับนโยบายของประเทศเพื่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ทั้งยังรวมถึง
- R (Reduction): การลดปริมาณการปล่อยคาร์บอน โดยมีการนำเสนองานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนของเสียเป็นพลังงาน การเปลี่ยนขยะดอกไม้ไร้ค่าเป็นวัสดุที่ใช้ในด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม การดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ การจัดการคาร์บอนไดออกไซด์จากเกษตรกรรม เทคโนโลยีแบตเตอรีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า
- U (Utilization): การนำคาร์บอนไปใช้งาน โดยมีการนำเสนองานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์วัสดุนาโนฐานชีวภาพเพื่อการเกษตรและอุตสาหกรรมผ่านกลไก BCG ระบบปฏิกรณ์ชีวภาพสำหรับการแปลงคาร์บอนไดออกไซด์เป็นพลังงาน และการผลิต Nanocrystalline Carbon จากคาร์บอนไดออกไซด์
- N (Neutralization): การไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนซึ่งหมายถึงการที่ปริมาณการปล่อยคาร์บอนเข้าสู่ชั้นบรรยากาศเท่ากับปริมาณคาร์บอนที่ถูกดูดซับกลับคืน โดยมีการนำเสนองานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับ ป่าชายเลน คาร์บอนสีน้ำเงิน การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ปลูกยางพารา การใช้ไบโอชาร์เพื่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ การประเมินการกักเก็บคาร์บอนและการซื้อขายคาร์บอนเครดิต การใช้อากาศยานไร้คนขับในการประเมินมวลชีวภาพและการกักเก็บคาร์บอน การประเมินการกักเก็บคาร์บอนในสวนสาธารณะของ กทม.
ทั้งนี้ได้นำผลงานวิจัยเด่น 4 ผลงาน จาก 8 มหาวิทยาลัยเครือข่ายฯ มาร่วมจัดแสดงภายในงานแถลงข่าวครั้งนี้ด้วย ได้แก่
- คาร์บอนรูพรุนจากดอกดาวเรืองเหลือทิ้ง โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กษิดิศ พนมสุวรรณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) กับการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน—การเปลี่ยน CO2 ให้เป็นสารมูลค่าสูงในอุตสาหกรรม โดย ศาสตราจารย์ ดร.เมตตา เจริญพานิช มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- กระบวนการผลิต Nanocrystalline Carbon ที่มีโครงสร้างแบบ 1D 2D 3D จากคาร์บอนไดออกไซด์ โดยศาสตราจารย์ ดร.จูงใจ ปั้นประณีต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ด้วยเทคโนโลยีไบโอชาร์ การฟื้นฟูดินและการเพาะปลูกอย่างยั่งยืน โดยศาสตราจารย์ ดร.พวงรัตน์ แก้วล้อม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
นอกจากนี้ในวันจันทร์ที่ 7 สิงหาคม 2566 เวลา 13.30 น. จะมีพิธีเปิดบูธเครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย (Research University Network: RUN) ณ บูธจัดนิทรรศการ RUN และในวันศุกร์ที่ 11 สิงหาคม 2566 เวลา 12.30-16.30 น. ณ ห้องประชุมเวิลด์บอลรูม ชั้น 23 เครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย(RUN) ยังได้จัดกิจกรรมปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "Roles of Research towards Net Zero Ambitions" โดย ศาสตราจารย์กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัย และนวัตกรรม (กสว) กองทุน ววน. และนายสมิทธิพร เศรษฐปราโมทย์ Head of Corporate Venture Capital, Banpu Public Company Limited การเสวนาเรื่อง "Net Zero in Action: From Policy to Research and Innovation" โดยรองศาสตราจารย์ ดร.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในมุมมองการผลักดันงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์เชิงนโยบายของนักวิจัย ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ในมุมมองการบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนของ บพค. นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ในมุมมองการส่งเสริมและผลักดันการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของ อบก. นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในมุมมองการส่งเสริมและผลักดันการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคเอกชน และผู้ดำเนินการเสวนา โดยศาสตราจารย์ ดร. ชนาธิป ผาริโน อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ทั้งนี้ขอเชิญชวนอาจารย์ นักวิจัย นักวิชาการ นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป เข้าร่วมชมการแสดงนิทรรศการผลงานวิจัย ของเครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย (Research University Network: RUN) ในงาน "มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566 (Thailand Research Expo 2023) ครั้งที่ 18" ซึ่งกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-11 สิงหาคม 2566 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ
ที่มา: นิวส์ เพอร์เฟค คอมมิวนิเคชั่น