ดร.อาทิตย์ ศุขเกษม รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า กรมพัฒนาที่ดินเป็นหน่วยงานที่มีการวิจัยด้านการจัดการทรัพยากรดินและที่ดินรวมทั้งเทคโนโลยีชีวภาพทางดิน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและลดต้นทุนการผลิตทางการเกษตร สำหรับการจัดการทรัพยากรดิน น้ำ และพืช ที่สามารถลดต้นทุน เพิ่มคุณภาพ และผลผลิตทางการเกษตร ในการสร้างความมั่นคงในการผลิตอาหารได้อย่างพอเพียง ปลอดภัย บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายใต้สภาพปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลก ที่นับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ซึ่งต้องใช้แนวทางการแก้ไขปัญหาบนพื้นฐานองค์ความรู้วิชาการ ปัญหาดินเค็มส่งผลกระทบไปทุกภูมิภาคของประเทศ โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในบริเวณพื้นที่ลุ่มจะใช้ประโยชน์ในการผลิตข้าว โดยความเค็มจะทำให้ผลผลิตของข้าวและพืชอาหารอื่นๆ ลดต่ำลง จนถึงไม่สามารถให้ผลผลิตได้ และพบว่าแนวโน้มการแพร่กระจายของดินเค็มจะเพิ่มขึ้นทุกปี ส่งผลให้พื้นที่ทำการเกษตรลดลง จึงจำเป็นต้องมีมาตรการในการเพิ่มผลผลิตพืชอาหารให้เพียงพอกับความต้องการของประชากร ซึ่งพืชอาหารหลักของคนไทย คือ ข้าว ดังนั้น ความมั่นคงทางอาหารของประเทศจึงอยู่ที่ข้าว ในขณะที่ความต้องการอาหารเพิ่มขึ้นรวดเร็วกว่าการเพิ่มของผลผลิต เนื่องจากประเทศไทยมีพื้นที่ที่ใช้ทำการเกษตรอย่างจำกัดเพียง 130 ล้านไร่ จากพื้นที่ประเทศทั้งหมด 320 ล้านไร่ ซึ่งไม่สามารถที่จะขยายพื้นที่เกษตรได้แล้ว การเกษตรในพื้นที่ดินเค็มจึงจะเป็นแนวทางหนึ่งในการผลิตพืชอาหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าวซึ่งเป็นพืชอาหารหลักของคนไทยเพื่อรับมือกับความต้องการทางอาหารที่เพิ่มขึ้น
การประชุมวิชาการฯ ครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-27 กรกฎาคม 2566 ณ โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชา ออคิด จังหวัดขอนแก่น ผู้ร่วมงานประกอบด้วย ผู้บริหารกรมพัฒนาที่ดิน หัวหน้าส่วนราชการ สถาบันการศึกษา หน่วยงานภาคเอกชน องค์กรระหว่างประเทศ และเกษตรกร วัตถุประสงค์ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ด้านดินเค็ม มุ่งสร้างเครือข่ายและความร่วมมือระหว่างองค์กรต่างๆ และชุมชนในพื้นที่ดินเค็ม เพื่อพัฒนาพื้นที่ดินเค็มแบบบูรณาการ และมีการใช้ประโยชน์พื้นที่ดินเค็มอย่างยั่งยืน โดยมีการบรรยายพิเศษจากผู้ทรงคุณวุฒิจากต่างประเทศ การเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้ของผู้มีประสบการณ์ในด้านการจัดการดินเค็ม และการรวบรวม ผลสำเร็จ ภูมิปัญญาท้องถิ่นของงานด้านพัฒนาพื้นที่ดินเค็มจากหลายหน่วยงาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเกษตรกรในชุมชนพื้นที่ดินเค็มสามารถใช้ประโยชน์พื้นที่อย่างยั่งยืน เกษตรกรมีความมั่งคั่ง ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ที่มา: กรมพัฒนาที่ดิน