สร้างต้นทุนสุขภาพเด็กไทยด้วยนมแม่ 6 เดือน
องค์การอนามัยโลก (WHO) สนับสนุนให้หญิงตั้งครรภ์คลอดลูกตามธรรมชาติ โดยแนะนำว่าอัตราการผ่าคลอดโดยรวมไว้ว่าไม่ควรเกินร้อยละ 15 เพราะหญิงตั้งครรภ์โดยปกติของมีโอกาสคลอดลูกได้เองสูงถึงร้อยละ 80-90
สำหรับประเทศไทยในปัจจุบันมีอัตราการผ่าคลอดร้อยละ 40 ซึ่งสูงกว่าที่ทางองค์การอนามัยโลกได้แนะนำไว้ ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากความต้องการลดการเจ็บปวดจากการคลอด และมีเรื่องของการกำหนดฤกษ์ยาม แต่การผ่าคลอดนั้นมีผลกระทบต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาวต่อตัวแม่และลูกมากมาย โดยเฉพาะโอกาสของการได้รับอาหารที่ดีและมีคุณค่าที่สุดจากแม่ถึงลูกนั่นก็คือ "นมแม่" นอกจากนี้ทางองค์การอนามัยโลกยังกำหนดให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน เป็นตัวชี้วัดด้านโภชนาการระดับโลก ในการก้าวไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของทุกประเทศ
มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย จึงได้ดำเนิน โครงการสร้างสุขภาวะเด็กไทยด้วยนมแม่ ฝ่าวิกฤติโควิด-19 และสานพลังเครือข่ายสู่การขยายผล เพื่อชวนทุกภาคส่วนในสังคมไทยให้มาร่วมกันในการขับเคลื่อนและสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้มีการปฏิบัติอย่างยั่งยืนในสังคมไทย โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) โดยเฉพาะในประเด็นที่มีความเข้าใจไม่ถูกต้องว่าหากผ่าตัดคลอดจะไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้
ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ ประธานสหพันธ์สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา ภาคพื้นเอเชียโอเซียเนีย เปิดเผยว่าการผ่าตัดคลอดเป็นหัตถการซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องช่วยชีวิตทั้งแม่และลูก ในกรณีที่เป็นข้อบ่งชี้ว่าจะเป็นอันตรายต่อแม่และลูก แต่ในปัจจุบันประเทศไทยมีอัตราผ่าตัดคลอดร้อยละ 40 ซึ่งมากกว่าความจำเป็นถึงสองเท่า และในโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งมีอัตราการผ่าคลอดสูงถึงร้อยละ 80-90 ซึ่งพบว่าในจำนวนนั้นบางส่วนไม่มีข้อบ่งชี้และไม่มีความจำเป็นในการผ่าตัดคลอด
"ประเทศที่มีรายได้สูงอย่าง อังกฤษ สเปน ฝรั่งเศส และประเทศแถบสแกนดิเนียเวียมีอัตราการผ่าตัดคลอดอยู่ที่ร้อยละ 20 หรือต่ำกว่า ญี่ปุ่นไม่ถึงร้อยละ 20 ซึ่งเกิดจากประชากรส่วนใหญ่ในประเทศเหล่านี้ตระหนักรู้ถึงข้อดีและข้อเสียของการผ่าตัดคลอด จากการประชุมวิชาการนมแม่แห่งชาติครั้งที่ 8 ยังพบข้อบ่งชี้ว่า การผ่าตัดคลอดจะลดโอกาสความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อีกด้วย เนื่องจากการผ่าคลอดจะให้ยาระงับความรู้สึก ทำให้แม่มีความพร้อมน้อยกว่าแม่คลอดผ่านช่องคลอด โดยเฉพาะในช่วงหนึ่งชั่วโมงแรกที่ถือว่าเป็นช่วงเวลาทอง ในการที่ลูกจะเริ่มดูดนมแม่และมีความผูกพัน ซึ่งมีการพิสูจน์แล้วว่าทำให้โอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้นสูงขึ้น"
แต่อย่างไรก็ดีการผ่าตัดคลอดนั้นไม่ได้เป็นข้อจำกัดและอุปสรรคที่จะทำให้ไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้อย่างที่เข้าใจผิดกันมาโดยตลอด ภายหลังผ่าตัดคลอดก็ยังสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ไม่แตกต่างไปจากการคลอดตามธรรมชาติ โดยสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือต้องมีการเตรียมตัวและเตรียมความพร้อมให้กับหญิงตั้งครรภ์ตั้งแต่ช่วงตั้งครรภ์จนกระทั้งหลังคลอด ตามแนวทาง 10 Steps to Successful Breastfeeding แม่และครอบครัวต้องมีความตั้งใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แพทย์และพยาบาลต้องเห็นความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และพร้อมช่วยเหลือสนับสนุนแม่ให้สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ตั้งแต่อยู่ภายในโรงพยาบาล
"หากจำเป็นต้องผ่าคลอด ควรเลือกใช้วิธีการฉีดยาระงับความรู้สึกเข้าที่ไขสันหลัง เพราะแม่จะไม่หลับ ทำให้ช่วงเวลาทองที่ลูกจะดูดนมแม่ได้ในหนึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอดสามารถทำได้ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของความสำเร็จในของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ นอกจากนี้ถ้าเด็กมีความแข็งแรงสมบูรณ์ดีจะต้องไม่แยกลูกและแม่ออกห่างจากกันในช่วงหนึ่งชั่วโมงแรก บุคลากรทางการแพทย์จำเป็นจะต้องสนับสนุนการให้นมแม่ในช่วงหนึ่งชั่วโมงแรกให้ได้ และต้องให้ความสำคัญในจุดนี้ ภายหลังคลอดแพทย์และพยาบาลจะต้องช่วยให้แม่เรียนรู้วิธีการนำลูกเข้าเต้าที่ถูกต้อง ช่วยให้แม่ได้โอบกอดลูก ให้ลูกได้กินนมแม่ และครอบครัวจะต้องให้การสนับสนุนในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน" ศ.นพ.ภิเศก ระบุ
ที่ผ่านมามูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ได้มีการส่งเสริม และสนับสนุนเพื่อให้เกิดสังคมที่เอื้อต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ตั้งแต่ระยะการฝากครรภ์ ภายหลังคลอด และเมื่อแม่ต้องกลับไปทำงาน ให้แม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ประสบความสำเร็จ และในการประชุมวิชาการนมแม่แห่งชาติครั้งที่ 8 ที่ผ่านมาบุคลากรทางการแพทย์ทั้งภาครัฐและเอกชนก็ให้การตอบรับเป็นอย่างดี ทุกฝ่ายพร้อมที่จะสนับสนุนให้เด็กไทยได้กินนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน
"ล่าสุดทางกรมอนามัยมีนโยบายและเป้าหมายในการเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จากร้อยละ
28.6 เพิ่มเป็นร้อยละ 50 ภายใน 2 ปี แต่การมีนโยบายอย่างเดียวไม่เพียงพอ ต้องมีวิธีการนำไปปฏิบัติ หรือมีกลไกด้านใดบ้างที่จะเร่งรัดให้เกิดความสำเร็จได้อย่างไร ในเวลานี้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อยู่ในภาวะวิกฤต มีผลต่อสุขภาพทั้งของแม่และลูก ดังนั้นบุคลากรทางการแพทย์ทุกฝ่าย ทั้งพยาบาลในห้องคลอด หมอสูตินารีแพทย์ หมอที่ให้การดมยาหรือหมอเด็ก ต้องเห็นความสำคัญในเรื่องนี้และร่วมมือกันอย่างจริงจัง นี่คือสิ่งสำคัญที่จะทำให้อัตราการให้นมแม่สำเร็จและสูงขึ้นตามเป้าหมายของกระทรวงสาธารณสุขได้อย่างแน่นอน" ศ.นพ.ภิเศก กล่าวย้ำ
พ.ญ.ศิริพร กัญชนะ ประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวว่าการสนับสนุนให้แม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียว 6 เดือนได้สำเร็จนั้น นอกจากแม่จะต้องมีความมุ่งมั่นตั้งใจแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือบุคลากรทางการแพทย์ทั้งหมอและพยาบาลจะต้องตระหนักและเห็นความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และพร้อมที่จะให้การสนับสนุนในทุกๆ ด้าน
"ปัจจุบันทุกโรงพยาบาลต่างรับทราบถึงแนวทางการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ หรือ 10 Steps to Successful Breastfeeding ซึ่งมีขั้นตอนการปฏิบัติทั้งด้านการสนับสนุนและการให้ความรู้ที่สำคัญไว้ 10 ประการ หากบุคลากรทางการแพทย์เห็นความสำคัญและร่วมมือกันในเรื่องนี้ ก็จะมีส่วนอย่างยิ่งในการสนับสนุนให้เป้าหมายการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของประเทศประสบความสำเร็จ ซึ่งสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ เป็นการร่วมกันสร้างต้นทุนสุขภาพกายและจิตใจที่ดีให้กับเด็กไทย ที่จะเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติในศตวรรษที่ 21 โดยมีจุดเริ่มต้นที่นมแม่นั่นเอง" พ.ญ.ศิริพร กล่าวสรุป.
สำหรับแม่ที่กำลังตั้งครรภ์-หลังคลอด ดูข้อมูลการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ที่ www.thaibf.com Facebook : Thaibf และ นมแม่ และ Application : Everyday Doctor ของกรมอนามัยที่เปิดคลินิกนมแม่ออนไลน์ เพื่อให้คำปรึกษาแม่ที่มีปัญหาในการให้นมแม่ได้ตลอด 24 ชั่วโมง.
ที่มา: ไอแอมพีอาร์