นวัตกรรมถ่านคาร์บอนจากขี้เลื่อยไม้ยางพารา เป็นการนำขี้เลื่อยไม้ยางพารามาเข้ากระบวนการกระตุ้นด้วยกรดและเบสแบบสองขั้นตอนต่อเนื่อง เพื่อสร้างรูพรุนในเนื้อไม้และเมื่อนำไปเผาจะได้เป็นถ่านคาร์บอนที่มีความเป็นรูพรุนและพื้นที่ผิวในการกักเก็บประจุไฟฟ้าที่สูง ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับเศษวัสดุเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมไม้แปรรูปในประเทศ และถ่านคาร์บอนที่ได้สามารถนำไปทำเป็นอิเล็กโทรดของ Supercapacitor ซึ่งเป็นอุปกรณ์กักเก็บพลังงานที่กำลังได้รับความสนใจในปัจจุบัน
นางสาวพิชญาภา บุญสุข กล่าวว่า "พวกเรารู้สึกภูมิใจเป็นอย่างมากที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในการแข่งขันครั้งนี้ ถือเป็นรางวัลใหญ่ที่สร้างชื่อเสียงให้กับสำนักวิชาและมหาวิทยาลัย ความสำเร็จในครั้งนี้ เป็นผลมาจากความพยายาม มุ่งมั่นทุ่มเท ตลอดระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา อยากให้รางวัลนี้เป็นแรงบันดาลใจให้กับทุกคนในการสร้างสรรค์ผลงานเช่นกัน การเข้าร่วมประกวดในครั้งนี้ ทำให้เราได้ทั้งประสบการณ์และความรู้ในการทำการตลาด การต่อยอดธุรกิจ การมีพาร์ทเนอร์ในสายงาน และทีสำคัญคือการได้นำทักษะความรู้จากการเรียนทั้งในหลักสูตรปิโตรเคมีและพอลิเมอร์ หลักสูตรวิศวกรรมไฟฟ้า และความรู้อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องจากสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ที่จัดการเรียนการสอนเน้นสร้างความรู้ ความเข้าใจให้นักศึกษา ผ่านกระบวนการคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการทำงานและทำให้ผลงานชิ้นนี้มีประสิทธิภาพสูงสุด"
สุดท้ายนี้ ขอขอบคุณผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อุเทน ทับทรวง และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กมล ถิ่นสุราษฎร์ อาจารย์ที่ปรึกษา ขอบคุณรองศาสตราจารย์ ดร.สุรัสวดี กุลบุญ ก่อเกื้อ คุณเฉลิม เต๊ะสนูและคุณนพรัตน์ แสงทอง ที่ให้คำปรึกษา ขอบคุณพี่ ๆ จากอุทยานวิทยาศาสตร์ และทีม Mentor สำหรับคำแนะนำในเรื่องต่าง ๆ และที่สำคัญขอขอบคุณเวที Startup Thailand League 2023 ที่เปิดโอกาสให้พวกเราได้นำนวัตนกรรมมานำเสนอในโอกาสนี้
ทางด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนุรักษ์ ถุงทอง รักษาการแทนผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้กล่าวถึงการสนับสนุนและส่งเสริมศักยภาพนักศึกษาในการเป็นผู้ประกอบการว่า อุทยานวิทยาศาสตร์ฯ ม.วลัยลักษณ์ จัดตั้งศูนย์พัฒนาความเป็นผู้ประกอบการนักศึกษา (Wailak Entrepreneurship Development Academy,WEDA) ขึ้นเพื่อเป็นกลไกในการพัฒนาทักษะความเป็นผู้ประกอบการให้แก่นักศึกษาที่มีความฝันอยากเป็นผู้ประกอบการ โดยการจัดค่าย Boot Camp เพื่อฝึกทักษะแนวคิดทั้ง Tool Set และ Mind Set ให้แก่นักศึกษา แล้วจึงคัดเลือกไอเดียดี ๆ จากการพิชชิ่งใน Boot Camp ไปส่งเข้าประกวดเวที Start Up Thailand และเวทีอื่น ๆ โดยไอเดียส่วนใหญ่จะคัดเลือกผลงานที่มาจากงานวิจัยของอาจารย์ เพื่อพัฒนาเป็นโมเดลธุรกิจควบคู่กันไป โดยมีแผนการพัฒนาเป็นธุรกิจ 5 ขั้น คือ 1) การนำแนวคิดหรือไอเดียธุรกิจไปประกวด 2) การสร้างต้นแบบธุรกิจโดยการสนับสนุนทุนจากภายนอก 3) การนำต้นแบบไปทดลองตลาด เพื่อสำรวจความพึงพอใจของผู้บริโภค 4) เริ่มทำธุรกิจ เช่น จดทะเบียนนิติบุคคล และ 5) สร้างความเติบโตทางธุรกิจ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนุรักษ์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันมีอาจารย์และนักศึกษาสนใจเข้าร่วมกับทาง WEDA CLUB มากขึ้นโดยเฉลี่ยปีละกว่า 1,000 คน มีไอเดียที่เข้าเสนอประมาณ 50-60 ไอเดีย/ปี ซึ่งจะคัดเลือกเหลือเพียง 20-30 ไอเดียเพื่อไปประกวด และจะมี 5-6 ไอเดียที่ได้รางวัล จนสามารถนำไปพัฒนาต่อเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบ ตลอดจนทดลองตลาดได้ไปจนถึงการจัดตั้งเป็นบริษัทได้จริงจำนวน 1-3 บริษัท/ปี การเข้ามาเป็นสมาชิก WEDA CLUB นอกจากนักศึกษาจะได้แนวคิดในการทำธุรกิจแล้ว ยังได้ประสบการณ์จากเวทีประกวด ได้พันธมิตรในการทำธุรกิจและคำแนะนำจากคณะกรรมการซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการทำธุรกิจในอนาคต รวมทั้งได้มุมมองในการประกอบอาชีพที่ไม่จำกัดเพียงแค่รับราชการหรือสายอาชีพที่เรียนจบไปเท่านั้น
"ขอแสดงความยินดีกับทีม Spark Energy ที่สร้างประวัติศาสตร์เป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปี ให้กับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งในเวทีประกวดแนวคิดธุรกิจนวัตกรรมเรายังไม่เคยได้รางวัลระดับประเทศมาก่อน ขอบคุณนักศึกษา อาจารย์ที่ปรึกษา รวมทั้งพี่เลี้ยงจาก WEDA CLUB ทุกคน สำหรับความมุ่งมั่นทุ่มเทฝึกซ้อมอย่างหนัก นอกจากรางวัลที่ได้ สิ่งที่เราคาดหวังมากกว่านั้น คือ การที่นักศึกษาสามารถนำพาไอเดียธุรกิจจากงานวิจัยของอาจารย์ ไปสู่การทำธุรกิจและคาดหวังว่าแนวคิดนี้จะถูกพัฒนาจนสามารถใช้ได้จริง อุทยานวิทยาศาสตร์ฯ ม.วลัยลักษณ์ จะสนับสนุนจนกว่านักศึกษาจะประสบความสำเร็จ" ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนุรักษ์ กล่าว
ที่มา: มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์