ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM เปิดเผยว่าโครงการดังกล่าวจะสามารถตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ของกลุ่มลุกค้าในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี ด้วยเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพและนวัตกรรมที่ทันสมัย เพื่อเสริมศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจให้กับกลุ่มลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรม พร้อมดูแลสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน ด้วยการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน เพิ่มการกักเก็บพลังงานสะอาด ก้าวสู่เป้าหมายสำคัญในการลดก๊าซเรือนกระจกและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระยะยาว ตามแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม คาดเฟสแรกจะสามารถผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ภายในไตรมาสที่ 3 ปี 2567
"การร่วมลงนามกับบริษัท อมตะ วอเตอร์ จำกัด (Amata Water) ครั้งนี้ เป็นอีกก้าวสำคัญของกลยุทธ์การขยายธุรกิจพลังงานหมุนเวียนของ บี.กริม เพาเวอร์ เป็นการเพิ่มฐานลูกค้าและพันธมิตรในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน เพื่อมุ่งสู่การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero Carbon Emissions)" ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ กล่าว
ปัจจุบัน บี.กริม เพาเวอร์ มีโครงการที่เปิดดำเนินการแล้วทั้งหมด 58 โครงการ ทั้งจากโครงการที่ก่อสร้างใหม่และการเข้าซื้อกิจการตั้งอยู่ในหลากหลายประเทศ โดยตั้งเป้ามีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 10,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2573 พร้อมก้าวสู่บริษัทผู้ผลิตพลังงานชั้นนำระดับโลก โดยมีเป้าหมายระยะยาว คือก้าวสู่องค์กรที่ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ Net-Zero Carbon Emissions ภายในปี ค.ศ. 2050 (ปี พ.ศ. 2593)
นาย วิทวัส สวัสดิ์-ชูโต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการ บริษัท อมตะ วอเตอร์ จำกัด (AMATA WATER) กล่าวว่า ความร่วมมือ Amata B.Grimm Power ที่จะร่วมกันพัฒนาพลังงานสะอาดภายในนิคมอุตสาหกรรม อมตะซิตี้ ชลบุรี เป็นไปตามเป้าหมายของบริษัทที่จะพัฒนาสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City ที่ปัจจุบันได้ขับเคลื่อนในด้านต่างๆ โดยเฉพาะการเตรียมการด้านสาธารณูปโภคที่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ในแนวทางการพัฒนา Smart Energy ที่มีการนำที่อ่างเก็บน้ำบางส่วน มาทำโครงการ Floating Solar Farm ระยะแรกขนาดประมาณ 19.5 เมกะวัตต์ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการบริหารจัดการด้านพลังงาน รวมถึงการลดการสูญเสียปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ จากการระเหย ทำให้อมตะซิตี้ ชลบุรี เป็นนิคมฯที่มีศักยภาพในด้านการบริหารจัดการทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด
จากการพัฒนาโครงการร่วมกันครั้งนี้ จะนำไปสู่การศึกษาความเป็นไปได้ ของศักยภาพการทำโครงการ เพื่อขยายผลเพิ่มแหล่งจ่ายไฟฟ้าพลังงานสะอาดภายในนิคมอมตะซิตี้ ชลบุรี เพื่อเป็นแนวทางของการสนับสนุน Smart Energy เพื่อให้สอดรับกับการใช้พลังงานแห่งอนาคตที่มุ่งไปสู่การลดการปล่อยคาร์บอน ตามเป้าหมาย ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ในปี 2040
ที่มา: กู้ดวิล คอมมูนิเคชั่นส์