นางวิไลลักษณ์ คลอดเพ็ง รักษาการผู้บริหารสูงสุด สายงานประกันคุณภาพอาหารกลาง ด้านประกันคุณภาพอาหารกลาง ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟ ดำเนินธุรกิจยึดมั่นในวิสัยทัศน์เป็นครัวของโลก (Kitchen of the World) ที่มุ่งมั่นสร้างความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) โดยได้ประกาศนโยบายคุณภาพซีพีเอฟ (Quality Policy) เพื่อกำหนดกลยุทธ์ให้การดำเนินงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมไปถึงการสร้างความตระหนักด้านคุณภาพและความปลอดภัยอาหารให้กับพนักงานในองค์กร ผ่านการดำเนินโครงการ CPF Food Safety & Quality Culture ที่นำร่องมาตั้งแต่ ปี 2020 (พ.ศ. 2563) ที่โรงงานแปรรูปเนื้อไก่สระบุรี และปัจจุบันขยายผลประยุกต์ใช้กับกลุ่มธุรกิจเดียวกันที่โรงงานโคราช มีนบุรี บางนา และกลุ่มธุรกิจอื่นๆ ได้แก่ โรงงานแปรรูปสุกร โรงคัดไข่บ้านนา โรงงานแปรรูปไข่บ้านนา โรงงานอาหารสำเร็จรูป โรงงานแปรรูปสัตว์น้ำ รวม 7 กลุ่มธุรกิจ จำนวน 12 โรงงาน โดยมีเป้าหมายดำเนินงานครอบคลุมทุกกลุ่มธุรกิจและทุกโรงงาน ภายในปี 2025 (พ.ศ. 2568)
"ในยุคที่เทรนด์โลกตื่นตัวด้านความยั่งยืน กลยุทธ์การดำเนินงานด้านประกันคุณภาพก็ต้องปรับให้สอดคล้องกับความยั่งยืนในทุกมิติด้วย ซึ่งหัวใจสำคัญของความยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ หากได้รับความร่วมมือจากพนักงานทุกคน ด้วยการปลูกฝังวัฒนธรรมและทัศนคติด้านคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร เพื่อสร้างคุณค่าผลิตภัณฑ์อาหารของซีพีเอฟ" นางวิไลลักษณ์ กล่าว
ซีพีเอฟ มุ่งมั่นผลิตสินค้าตามข้อกำหนด กฎหมาย ความต้องการของลูกค้า ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งในทุกขั้นตอนของการผลิต เราได้รับการรับรองมาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัยที่เป็นสากล เพื่อเป็นมาตรฐานการปฏิบัติงานที่ทำให้เกิดความปลอดภัยกับผู้บริโภค สร้างความไว้วางใจ ความพึงพอใจ และความจงรักภักดีต่อสินค้า ซีพีเอฟ มีระบบประกันคุณภาพสินค้าตลอดห่วงโซ่อุปทาน เริ่มจากการยกระดับคุณภาพวัตถุดิบ เพราะเชื่อมั่นว่า "วัตถุดิบดีย่อมส่งผลให้คุณภาพสินค้าดี" จึงมุ่งพัฒนาคุณภาพวัตถุดิบผ่าน โครงการ SME Supplier Development ยกระดับคุณภาพในกลุ่มผู้ประกอบการกลุ่มเอสเอ็มอี เริ่มจากการอบรมให้ความรู้ด้านคุณภาพและความปลอดภัยอาหารในระดับสากล การเข้าถึงพื้นที่เพื่อเป็นที่ปรึกษาในการปรับปรุงกระบวนการ ตลอดจนการสร้าง QA Expertise เพิ่มความเชี่ยวชาญด้านวัตถุดิบ เป็นต้น
ในกระบวนการผลิต งานด้านประกันคุณภาพได้จัดทำโครงการป้องกันเชิงรุก (QA Proactive) เพื่อป้องกันปัญหาด้านคุณภาพที่ต้นเหตุ คือ เครื่องจักรที่ใช้ในกระบวนการผลิตเพื่อตอบโจทย์แนวโน้มการผลิตที่มุ่งสู่ยุค 4.0 มุ่งเน้นใช้เครื่องจักรทดแทนแรงงานคน ผ่านการดำเนินโครงการ Quality Maintenance ป้องกันการเกิดของเสียขณะผลิต หรือ Zero Defect ซึ่งเป็นโครงการที่สอดรับกับเป้าหมายความยั่งยืน
ในขณะที่ผู้บริโภคยังได้รับสินค้าที่มีคุณภาพและปลอดภัย เป็นต้น ในด้านความปลอดภัยของสินค้า ก่อนส่งมอบให้กับผู้บริโภค ซีพีเอฟจัดทำโครงการพัฒนาชุดตรวจสอบสินค้าร่วมกับผู้เชี่ยวชาญทั้งในประเทศและต่างประเทศ เน้นการตรวจวิเคราะห์ที่แม่นยำ รวดเร็ว ลดแรงงานคน ของเสีย น้ำเสีย ลดเวลาการจัดเก็บสินค้า สามารถส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้าได้อย่างรวดเร็วและรักษาคุณภาพของสินค้าได้อย่างสม่ำเสมอ
ด้านคุณภาพของสินค้า ซีพีเอฟ สร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าและผู้บริโภคว่าจะได้รับอาหารที่มีคุณภาพสม่ำเสมอด้านรสชาติ สี เนื้อสัมผัส กลิ่น ความอร่อย โดยสร้างผู้เชี่ยวชาญด้านการทดสอบประสาทสัมผัสครอบคลุมในทุกธุรกิจ และตั้งศูนย์ทดสอบด้านประสาทสัมผัส (Sensory evaluation center) ที่สามารถสร้างและพัฒนาบุคลากรเพื่อทำหน้าที่ทดสอบคุณภาพสินค้าด้านประสาทสัมผัส ซึ่งภายในปี 2023 ซีพีเอฟ มีจำนวนผู้ผ่านการทดสอบทั้ง 7 กลุ่มธุรกิจ รวม 630 คน
นางวิไลลักษณ์ ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ในยุคที่เทรนด์โลกตื่นตัวเรื่องความยั่งยืน กลยุทธ์การดำเนินงานต่างๆของ QA ก็ต้องปรับตัวให้สอดรับกับความยั่งยืนในทุกมิติเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การให้ความสำคัญกับเรื่องของ ESG (Environment Social Governance) ที่ถือว่าเป็นอีกหนึ่งตัวชี้วัดและประเมินผลการดำเนินงานของธุรกิจ เน้นความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สังคม มีการบริหารจัดการองค์กรที่ดีบนพื้นฐานของธรรมาภิบาล เพื่อส่งเสริมธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งซีพีเอฟ ยึดมั่นในวิสัยทัศน์เป็นครัวของโลก (Kitchen of the World)ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร เป็นอันดับหนึ่งมาโดยตลอด ./
ที่มา: เจริญโภคภัณฑ์อาหาร