นายสุชาติ กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ได้มีนโยบายสำคัญในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี มาอย่างต่อเนื่อง และจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่คลี่คลายลงในปัจจุบัน ทำให้ภาคธุรกิจการท่องเที่ยวของไทยเริ่มฟื้นตัว โดยเฉพาะที่จังหวัดระยองถือเป็นหนึ่งในจังหวัดเขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ซึ่งในส่วนของกระทรวงแรงงานได้มีมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิดในพื้นที่อีอีซีผ่านโครงการต่างๆ เช่นม.33 เรารักกัน โครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐในพื้นที่ 29 จังหวัด โครงการเยียวยาฯ สถานบันเทิง เอสเอ็มอี ฉีดวัคซีน และโครงการแฟคทอรี่แซนด์บ็อกซ์ รวมเม็ดเงินช่วยเหลือกว่า 19,789 ล้านบาท
นายสุชาติ กล่าวต่อว่า สำหรับการผลิตกำลังคนเพื่อป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมใหม่ในพื้นที่อีอีซีนั้นกระทรวงแรงงานได้จ้างงานกว่า 1 แสนตำแหน่ง นอกจากนี้ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ยังมีศูนย์ฝึกอบรมเฉพาะทาง MARA เพื่อฝึกกำลังคนในสาขาเทคโนโลยีการผลิต อัจฉริยะและหุ่นยนต์จ.ชลบุรี รวมทั้งมีหลักสูตรฝึกอบรมรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S- curves) จำนวน 3,247 หลักสูตร เพื่อผลิตกำลังคนให้สอดคล้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศอาทิ รถไฟฟ้าความเร็วสูง รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 โครงการ PPP ร่วมทุนจากรัฐบาลและเอกชน เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการจ้างงาน ส่งเสริมการประกอบอาชีพให้แก่ประชาชนในพื้นที่ มีทักษะฝีมือ มีงานทำ มีอาชีพและรายได้ที่มั่นคง เป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศหลุดจากกับดักรายได้ปานกลางอีกด้วย
สำหรับสถานการณ์ด้านแรงงานปัจจุบันในพื้นที่อีอีซี จังหวัดระยองมีผู้ประกันตนทั้งสิ้น656,813 คน สถานประกอบการ 9,248 แห่ง จังหวัดชลบุรีมีผู้ประกันตนทั้งสิ้น 1,205,778 คนสถานประกอบการ 21,778 แห่ง และจังหวัดฉะเชิงเทรา มีผู้ประกันตนทั้งสิ้น 417,040 คน สถานประกอบการ 5,050 แห่ง
ที่มา: กระทรวงแรงงาน