นักวิจัยมจธ.โชว์เทคโนโลยีวิศวกรรมโบราณสถาน รัฐ-เอกชนรุมจีบทำฐานข้อมูลดิจิทัลสถานที่สำคัญ

พฤหัส ๑๐ สิงหาคม ๒๐๒๓ ๑๘:๐๙
รศ. ดร.สุทัศน์ ลีลาทวีวัฒน์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีโลยีพระจอมเกล้า เปิดเผยถึงการนำผลงานวิจัยมาร่วมจัดแสดงในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566 ในฐานะหัวหน้าโครงการพัฒนาข้อมูลดิจิทัล 3 มิติ เพื่อการตรวจสอบโครงสร้างพื้นฐานและการรักษามรดกทางวัฒนธรรม ว่าโครงการนี้เป็นโครงการวิจัยที่ได้รับสนับสนุนจากหลายภาคส่วน โดยเริ่มต้นจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ในช่วงปี 2561-2562 และได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยอย่างต่อเนื่องจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ผ่านหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) รวมถึงสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ทีมวิจัยได้มุ่งพัฒนากระบวนการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ทางวิศวกรรมร่วมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อจัดทำข้อมูลดิจิทัล 3 มิติสำหรับการตรวจสอบโครงสร้างพื้นฐานและการอนุรักษ์โบราณสถาน

ผลงานวิจัยนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการประเมินและติดตามสภาพโครงสร้างพื้นฐาน โบราณสถาน และอาคารสำคัญต่างๆ โดยได้รับการยอมรับและนำไปใช้กับหน่วยงานสำคัญต่าง ๆ อาทิ กรมศิลปากร กรมโยธาธิการและผังเมือง วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) รวมถึงหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอื่น ๆ อีกมาก นอกจากนี้ทีมวิจัยได้ยื่นขอสิทธิบัตร 1 เรื่อง ได้แก่ กระบวนการประเมินแรงดึงในสายเคเบิ้ลขนาดใหญ่โดยอาศัยเทคโนโลยีการสแกนวัตถุสามมิติด้วยแสงเลเซอร์ เลขที่คำขอ 2101003678

ขณะที่ รศ. ดร.ชัยณรงค์ อธิสกุล เผยถึงโครงการการพัฒนาข้อมูลดิจิทัล 3 มิติ เพื่อการตรวจสอบโครงสร้างพื้นฐานและการรักษามรดกทางวัฒนธรรม ว่าทีมวิจัยได้พัฒนาฐานข้อมูลดิจิทัลและองค์ความรู้สำหรับการประเมินทางวิศวกรรมและติดตามสภาพเจดีย์ของไทย โดยมีกรณีศึกษาประกอบด้วย เจดีย์วัดราชบูรณะ วัดพระราม วัดกระจี และวัดหลังคาขาว ซึ่งตั้งอยู่ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา รวมถึงผลิตสื่อวีดิทัศน์เผยแพร่องค์ความรู้เบื้องต้นที่ได้จากการวิจัย เพื่อสื่อสารให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่และผู้ที่สนใจได้รับรู้ถึงเทคโนโลยีและวิธีการสมัยใหม่ในการอนุรักษ์โบราณสถานให้ถูกต้องตามหลักวิศวกรรม

นอกจากนี้ทีมวิจัยยังได้ขยายผลการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวในการเก็บข้อมูลภาพกลุ่มจุดสามมิติวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม สะพานพระราม 9 อาคารหอรัชมงคล สวนหลวง ร.9 การตรวจสอบประเมินแรงดึงเคเบิ้ลและโครงหลังคาอาคารไบเทค เป็นต้น ตลอดจนการร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ อาทิ กรมศิลปากร วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย บริษัทสโตนเฮ้นจ์ อินเตอร์ จำกัด(มหาชน) และบริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ในการตรวจสอบประเมินอาคารสำคัญของประเทศอีกหลายแห่ง ซึ่งองค์ความรู้จากการทำงานกับหลายภาคส่วนได้รับการถ่ายทอดไปสู่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องผ่านโครงการต่างๆ ได้แก่ โครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรแก่สำนักสถาปัตยกรรม และโครงการก่อสร้างที่อยู่อาศัยให้กับบุคลากรการเคหะแห่งชาติ

"ผลงานเหล่านี้ถือเป็นความภาคภูมิใจของทีมวิจัยอย่างมากที่ได้นำองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่เราพัฒนาขึ้นมาประยุกต์ใช้กับงานเก็บข้อมูลและประเมินโครงสร้าง ซึ่งจะเป็นหนทางหนึ่งในการช่วยอนุรักษ์โบราณสถานอันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญของประเทศ รวมถึงขยายผลต่อยอดไปยังอาคารสมัยใหม่และสถานที่สำคัญของประเทศได้อีกมากมาย" รศ. ดร.สุทัศน์กล่าวปิดท้าย

 

ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version