ป.ป.ช. ภาค 3 จับมือภาคี 4 สถาบันอุดมศึกษาโคราชลงนาม MOU ต่อต้านการทุจริต

พฤหัส ๑๗ สิงหาคม ๒๐๒๓ ๐๘:๑๙
สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 3 ร่วมมือมหาวิทยาลัยในเขตจังหวัดนครราชสีมา 4 สถาบัน ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ป้องกันและปราบปรามการทุจริต ผ่านการขับเคลื่อนหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา ความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช.เปิดเผยต่อสื่อมวลชนในการแถลงข่าววันนี้ (วันที่ 16 ส.ค.2566) ว่า สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 3 ได้เดินหน้าสานต่อนโยบายต่อต้านการกระทำความผิดมิชอบ ทุจริต ของทาง ป.ป.ช. โดยจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ร่วมกับมหาวิทยาลัยในเขตจังหวัดนครราชสีมา 4 สถาบันการศึกษา ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา และมหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล เพื่อดำเนินการขับเคลื่อนหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาในเขตพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาให้เกิดเป็นรูปธรรมและมีความชัดเจนมากขึ้น เพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนแม่บทประเด็น 21 ว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต และประพฤติมิชอบ มุ่งเน้นการปรับพฤติกรรมของคน ปลูกฝังและหล่อหลอมสร้างจิตใต้สำนึกและพฤติกรรมยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริต

นายนิวัติไชย ได้เปิดเผยต่อไปว่า ป.ป.ช.มีความต้องการและเล็งเห็นถึงความสำคัญของการสร้างวัฒนธรรมการต่อต้านการทุจริตในสังคมทุกหมู่เหล่า ให้รู้จักแยกแยะเรื่องส่วนตัวออกจากประโยชน์ส่วนรวม โดยเฉพาะการปลูกฝังวิธีคิดดังกล่าวไปยังกลุ่มเป้าหมายหลัก ทั้งในกลุ่มเด็กและเยาวชนที่กำลังจะเติบโตขึ้นมาเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ ควบคู่ไปกับการสนับสนุนการมีส่วนร่วมเป็นเครือข่ายแจ้งเบาะแสการทุจริตในทุกภาคส่วนของสังคม

สำหรับหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาดังกล่าวนี้ ถือเป็นหลักสูตรที่สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ถึง 17 องค์กรที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย สำนักงานลูกเสือแห่งชาติ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ คณะกรรมการอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล สถาบันวิชาการป้องกันระหว่างประเทศ กรมยุทธศึกษาทหารบก กรมยุทธศึกษาทหารเรือ กรมยุทธศึกษาทหารอากาศ กองบัญชาการศึกษา และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมมือทุกภาคส่วนจัดทำขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 โดยได้จำแนกออกมาจำนวนทั้งสิ้น 5 หลักสูตรการศึกษา ได้แก่ 1.หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รายวิชาเพิ่มเติม การป้องกันการทุจริต) 2.หลักสูตรอุดมศึกษา (วัยใส ใจสะอาด "Youngster with good heat") 3.หลักสูตรกลุ่มทหารและตำรวจ (หลักสูตรตามแนวทางการรับราชการ กลุ่มทหารและตำรวจ) 4.หลักสูตรวิทยากร ป.ป.ช./บุคลากรภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ (สร้างวิทยากรผู้นำการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต) 5.หลักสูตรโค้ช (โค้ชเพื่อการรู้คิดต้านทุจริต) โดยมีเนื้อหา 4 ชุดวิชา ประกอบด้วย 1.) การคิดแยกแยะระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์ส่วนรวม 2.) ความอายและความไม่ทนต่อการทุจริต 3.) STRONG : จิตพอเพียงต้านทุจริต และ 4.) พลเมืองและความรับผิดชอบต่อสังคม

โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2561 และวันที่ 18 สิงหาคม 2563 เห็นชอบหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปรับใช้ในการจัดการเรียนการสอนของสถานศึกษา และปรับใช้ในหลักสูตรฝึกอบรมของหน่วยงาน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 เป็นต้นมา ต่อมาในปี พ.ศ. 2564 ได้จัดทำเพิ่มเติมอีก 3 ชุดวิชา ได้แก่ 1.) การต้านทุจริตในสถานการณ์ Digital Disruption 2.) การพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางธรณี 3.) การพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติน้ำและน้ำบาดาล และในปี พ.ศ. 2565 ได้จัดทำเพิ่มเติมอีก 2 ชุดวิชา ได้แก่ 1.) การพิทักษ์ทรัพยากรป่าไม้ 2.) การพิทักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งเป็นเนื้อหาใหม่เพื่อให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันในการสร้างสังคมที่ไม่ทนต่อ การทุจริตมากขึ้น

สรุปวัตถุประสงค์ของการจัดทำพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) หลักสูตรต้านทุจริตศึกษา โดย ป.ป.ช.ภาค 3 ร่วมกับ 4 สถาบันอุดมศึกษาใน จ.นครราชสีมา ประกอบด้วย 4 ประเด็นหลัก ดังนี้

  1. ส่งเสริม สนับสนุน เผยแพร่ และประสานความร่วมมือให้เกิดการเสริมสร้างทัศนคติ ค่านิยมในความซื่อสัตย์สุจริต องค์ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ให้กับมหาวิทยาลัย และบุคลากรในสังกัด
  2. สร้างเครือข่ายป้องกันและปราบปรามการทุจริตในกลุ่มคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และบุคลากรให้มีส่วนร่วมในการ เฝ้าระวังการทุจริตทุกรูปแบบ
  3. ให้มหาวิทยาลัยรัฐ มหาวิทยาลัยเอกชน สถาบันการศึกษาในจังหวัดนครราชสีมา ได้มีบทบาท ในการนำหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาไปใช้ในการเรียนการสอนของหน่วยงานอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น
  4. รณรงค์และขยายแนวคิดให้สถาบันการศึกษาสามารถบริหารงานด้วยความโปร่งใส เพื่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชน และยกระดับมาตรฐานการป้องกันการทุจริตขององค์กรให้สูงขึ้น

นอกจากนี้ หน่วยงานทั้ง 5 หน่วยงานยังจะได้ประสานงานและร่วมกันจัดโครงการ/กิจกรรมส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ค่านิยมความสุจริตและความรู้เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตให้แก่บุคลากรในสังกัด ประชาชน ตลอดจนนักศึกษา เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ และการมีส่วนร่วมในการต่อต้านการทุจริต และร่วมเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็ง ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ในลำดับต่อไป

การจัดทำบันทึกข้อตกลงในวันนี้ จึงนับเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อมหาวิทยาลัย คณะผู้บริหาร ครูอาจารย์ นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ที่จะได้ตระหนักและมีรูปแบบแนวทางการประสานงานกันเพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรม มีความชัดเจน และเกิดการประสานความร่วมมือในระดับพื้นที่ร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ช. ภาค และสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด เพื่อส่งเสริม ช่วยเหลือ และประสานงานการปฏิบัติหน้าที่ระหว่างหน่วยงานทุกภาคส่วนอย่างมีประสิทธิภาพ บันทึกข้อตกลงดังกล่าวนี้ ถือเป็นพันธะสัญญาร่วมกัน ที่จะสร้างจิตสำนึกในต่อต้านการทุจริตและทำให้เกิดกระแสสังคมไม่ยอมรับการทุจริตทุกรูปแบบ สอดคล้องตามบทบาทและหน้าที่อันพึงกระทำ ตามบัญญัติในรัฐธรรมนูญของประชาชนทุกคน

ที่มา: เอ พลัส แอ๊คติเวชั่น

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ