ดร.กำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าทีม SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากกรณีที่การประชุม ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) เดือน ก.ค. ได้คงเป้าอัตราผลตอบแทน พันธบัตรญี่ปุ่น (JGB) อายุ 10 ปี หรือ Yield Curve Control : YCC ไว้ที่ 0% ในกรอบอ้างอิงเดิม ? 0.5% เพื่อให้การเคลื่อนไหวมีความยืดหยุ่นขึ้น โดยเปลี่ยนกรอบการซื้อ JGB อายุ 10 ปี อัตราผลตอบแทนพันธบัตร(yield) อยู่ที่ 1.0% ทำให้เรามองว่า จะช่วยยับยั้งผลข้างเคียง (side effect) ด้านลบ จากการใช้มาตรการ YCC ที่มีต่อตลาดตราสารหนี้ และความผันผวนในตลาดการเงินอื่นๆ ได้
ส่วนการประชุม BoJ ในเดือน ต.ค. นี้ SCB CIO มองว่า มีแนวโน้มสูงที่จะคงมาตรการ YCC ไว้ตามเดิม ขณะที่ การปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินครั้งถัดไป ไม่ว่าจะเป็นการยกเลิก YCC หรือการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก -0.1% มาอยู่ที่ 0.0% อาจเกิดขึ้นช่วงกลางปี 2567 ภายใต้สมมติฐานว่า ผลการเจรจาค่าจ้างในฤดูใบไม้ผลิ (shunto) เบื้องต้น ออกมาสูงใกล้เคียงปีนี้ ที่ 3.6% ซึ่งทำให้ BoJ มั่นใจว่า เงินเฟ้อมีแนวโน้มบรรลุเป้าหมายที่ 2% อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ ในระยะสั้น ท่าที BoJ ที่ดำเนินนโยบายการเงินบนอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ผ่อนคลาย จะส่งผลให้ yield ของ JGB อายุสั้น มีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำต่อไป ส่วน yield ของ JGB อายุยาว มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้ส่วนต่าง yield ของ JBG ระยะสั้นและระยะยาวสูงขึ้น แต่เรามองว่าจะมีผลทำให้เงินเยนแข็งค่าขึ้นค่อนข้างจำกัด เนื่องจาก yield พันธบัตรในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (DM) อื่นๆ จะปรับเพิ่มตามด้วย ส่วนหนึ่งมาจากแรงขายพันธบัตรใน DM นำเงินมาลงทุนบน JGB ขณะที่ นักลงทุนญี่ปุ่นมีแนวโน้มส่งเงินกลับจากต่างประเทศ (repatriation) มากขึ้น ผ่านการขายตราสารหนี้ต่างประเทศ นำกลับมาลงทุนใน JGB แต่แรงขายส่วนใหญ่ คาดว่าจะมาจากธนาคารและประกันชีวิตญี่ปุ่นซึ่งป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน
สำหรับ ตลาดหุ้นญี่ปุ่น คาดว่าจะมีความผันผวนในระยะสั้น จาก yield ของ JGB ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ค่าใช้จ่ายด้านดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น กดดันกำไรบริษัทจดทะเบียนญี่ปุ่นบางส่วน ประกอบกับ เงินเยนมีแนวโน้มอ่อนค่าได้น้อยลง อาจไปกดดันความสามารถแข่งขัน และผลกำไร/ขาดทุนจากค่าเงินของบริษัทได้ อย่างไรก็ตาม ในระยะถัดไปตลาดหุ้นญี่ปุ่นจะกลับมาปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ โดย JGB และเงินเยนมีเสถียรภาพมากขึ้น รวมทั้งจากหุ้นกลุ่มธนาคารมีแนวโน้มได้รับประโยชน์ จาก yield ที่เพิ่มขึ้น ทั้งกำไรปกติ (recurring profit) และอัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) ทำให้ P/BV กลุ่มธนาคาร ปรับตัวดีขึ้น อีกทั้ง yield สินเชื่อใหม่ และสินเชื่อรีไฟแนนซ์ ที่ดีขึ้น ทำให้ผลประกอบการได้รับแรงหนุนจากส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ที่ดีขึ้น และเราคาดว่า ข่าวร้ายการปรับนโยบายการเงินมีแนวโน้มลดลงอย่างมีนัยช่วงที่เหลือของปี
"BoJ เคยปรับเปลี่ยนมาตรการ YCC มาแล้ว 3 ครั้ง คือ ในเดือน ก.ค. 2561 เดือน มี.ค. 2564 และเดือน ธ.ค. 2565 ซึ่ง 1 เดือนหลังการปรับ YCC พบว่า yield ของ JGB อายุ 10 ปี มักเพิ่มขึ้น ส่วนเงินเยนจะแข็งค่าขึ้นเทียบกับ ดอลลาร์ สรอ. ขณะที่ตลาดหุ้นญี่ปุ่นจะปรับตัวลดลง แต่ผ่านไป 3 เดือนหลังปรับ YCC ตลาดการเงินญี่ปุ่นจะเคลื่อนไหวผสมผสาน ขึ้นอยู่กับ ท่าทีนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และ BoJ รวมทั้งบรรยากาศลงทุนในเวลานั้น ซึ่งเรามองว่ามี 4 ปัจจัยหนุนตลาดหุ้นญี่ปุ่นรออยู่ในระยะถัดไป ได้แก่ 1)ความคืบหน้าการปฏิรูปตลาดหุ้นญี่ปุ่น เน้นเรื่องธรรมาภิบาลมากขึ้น 2)แนวโน้มการฟื้นตัวของผลประกอบการบริษัท 3)ความคาดหวังว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่ช่วงเดือน ก.ย.-พ.ย. และ 4)การปรับโครงการลงทุนเพื่อลดภาษี สำหรับประชาชนญี่ปุ่น ในปี 2567 ซึ่งอาจทำให้เงินลงทุนภายใต้โครงการนี้เพิ่มจาก 14 ล้านเยน/คน เป็น 18 ล้านเยน/คน" ดร.กำพล กล่าว
ทั้งนี้ SCB CIO มองว่า จากปัจจัยหนุนตลาดหุ้นญี่ปุ่นที่ยังมีอยู่ และราคาเป้าหมายของดัชนี TOPIX ที่ยังมีโอกาสปรับขึ้นจากระดับปัจจุบัน (upside) จึงปรับมุมมองบนตลาดหุ้นญี่ปุ่น จาก Slightly Negative มาเป็น Neutral หรือจากเดิมทยอยขาย เป็นหยุดขาย หรือถือไว้ก่อน โดยเราประเมินราคาเป้าหมายดัชนี TOPIX 12 เดือนข้างหน้า จะอยู่ที่ 2,393 จุด ซึ่งตัวเลขนี้มาจากการให้น้ำหนัก 70% กับปัจจัยเรื่องผลตอบแทนส่วนเพิ่มเพื่อชดเชยความเสี่ยงจากการลงทุนในตลาดหุ้น (Earnings yield gap) และราคาต่อกำไรต่อหุ้น (P/E) ส่วนน้ำหนักอีก 30% คือปัจจัยมหภาค (Macro-based) ซึ่งมีผลต่อการลงทุนมากขึ้น เพราะบริษัทจดทะเบียนญี่ปุ่นพึ่งพารายได้ต่างประเทศระดับหนึ่ง
ที่มา: ธนาคารไทยพาณิชย์