นายประพัฒน์ รัฐเลิศกานต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แพลนเน็ต คอมมิวนิเคชั่น เอเชีย จำกัด (มหาชน) หรือ PLANET ผู้ให้บริการเทคโนโลยีดิจิทัลแบบครบวงจร เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาบริษัทฯมีการขยายการลงทุนไปหลายธุรกิจ จากเดิมที่สัดส่วนรายได้หลักมาจากการดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการโทรคมนาคมสื่อสาร ซึ่งปัจจุบันงานเกี่ยวกับการโทรคมนาคมสื่อสาร ยังดำเนินไปได้ด้วยดี โดยขณะนี้มีงานอยู่ระหว่างรอการประมูลกว่าพันล้านบาท
สำหรับกลุ่มธุรกิจใหม่ที่มีการขยายการลงทุนตามแผนการลงทุนระยะยาวของบริษัทฯ อาทิ ด้านสาธารณูปโภค (Utilities) ภายใต้บริษัทย่อย คือ บริษัท แพลนเน็ตยูทิลิตี้ จำกัด (PLANET-UT) และธุรกิจรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV)ภายใต้บริษัทย่อย บริษัท แพลนเน็ต อีวี จำกัด (Planet EV) รวมถึงธุรกิจเกี่ยวกกับ Data Center อยู่ในช่วงต้นของการลงทุน อีกทั้งบางโครงการยังไม่สามารถรับรู้รายได้ในไตรมาสนี้ จึงส่งผลให้ในไตรมาสที่ 2 ปี2566 มีผลประกอบการขาดทุนสุทธิ 22.48 ล้านบาท จากช่วงเดี่ยวกันของปีก่อนที่มีกำไร 13.20 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่าบริษัทย่อยและกลุ่มธุรกิจใหม่ของบริษัทฯในข้างต้น จะสามารถเริ่มสร้างรายได้ตั้งแต่ครึ่งหลังของปีนี้เป็นต้นไป
นายประพัฒน์ กล่าวด้วยว่า เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2566 ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 5/2566 มีมติอนุมติเพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัท แพลนเน็ต ไซเบอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทฯถือหุ้นอยู่คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 99.99 ของทุนจดทะเบียนจากเดิม 5ล้านบาท เป็น 15,000,000 บาท จากเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท
โดยวัตถุประสงค์ในการเพิ่มทุนในครั้งนี้ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินสำหรับการดำเนินธุรกิจ และช่วยเสริมความมั่นคงแก่บริษัท แพลนเน็ต ไซเบอร์ ให้มีฐานเงินทุนที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น โดยจะนำเงินที่ได้จากการเพิ่มทุน ไปสนับสนุนการขยายธุรกิจในกลุ่มระบบรักษาความปลอดภัยทางด้านไซเบอร์ Cyber Security และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงาน รวมถึงรองรับการขยายกิจการและการลงทุนในอนาคต
นายประพัฒน์ กล่าวว่า ธุรกิจเทคโนโลยีด้านกลุ่มระบบรักษาความปลอดภัยทางด้านไซเบอร์ Cyber Security ภายใต้บริษัทย่อย บริษัท แพลนเน็ต ไซเบอร์ จำกัด นั้นมีแนวโน้มที่ดี โดยขณะนี้บริษัทฯอยู่ระหว่างเร่งขยายฐานลูกค้าไปยังหน่วยงานภาคธุรกิจต่างๆ ที่จำเป็นต้องปรับปรุงยกระดับรักษาความปลอดภัยข้อมูล (Cyber Security) อาทิ ในกลุ่มโรงพยาบาล ประกันภัย รัฐวิสาหกิจ และอื่นๆ
"ข้อมูลสำคัญขององค์กร อาทิ ข้อมูลส่วนบุคคล หรือข้อมูลของลูกค้า หากถูกโจรกรรม นอกจากจะสร้างความเสียหายแก่องค์กร ซึ่งในส่วนผู้รับผิดชอบยังเสี่ยงอาจต้องโทษทางกฎหมายทั้งทางแพ่งและอาญา ตามพระราชบัญญัติข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ที่มีผลบังคับใช้แล้ว ทำให้ตลาดป้องกันอาชญากรรมทางไซเบอร์ มีแนวโน้มเติบโตสูงมาก" นายประพัฒน์กล่าว
ที่มา: แพลนเน็ต คอมมิวนิเคชั่น เอเชีย