วิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จัดโครงการประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 2 เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 91 พรรษา 12 สิงหาคม 2566 เพื่อเป็นการแสดงความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดมา ทรงริเริ่มโครงการในพระราชดำริสำคัญ ๆ ไว้มากมาย ด้วยทรงหวังให้ปวงชนชาวไทยได้มีสุขภาพที่ดีและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจัดขึ้นภายใต้แนวความคิด "Update Genetic & Precision Medicine for Nurse and Health Personnel" ที่เลือกการรักษาให้ตรงจุดและเหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย โดยอาศัยข้อมูลจากการตรวจพันธุกรรมของผู้ป่วยแต่ละราย สร้างองค์ความรู้ทำให้เข้าใจกลไกที่ซับซ้อนของโรค มีการนำปัจจัยต่าง ๆ เช่น พันธุกรรม การใช้ชีวิต และสิ่งแวดล้อม ของผู้ป่วยมาเป็นปัจจัยประกอบเพื่อมาใช้ในการตรวจวินิจฉัย การเลือกรูปแบบการรักษา การเลือกใช้ยา รวมถึงการป้องกันโรคและสร้างเสริมสุขภาพ ที่ตรงจุดและเหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วยเป็นรายบุคคล ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อบุคลากรทางการพยาบาลและบุคลากรทีมสุขภาพในการนำไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานบริการด้านสุขภาพ ตามบทบาทหน้าที่ของแต่ละวิชาชีพต่อไป โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.ทัศนา บุญทอง คณบดีวิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นประธานในการเปิดงาน ณ โรงแรมเบสท์เวสเทิร์น พลัส แวนดา แกรนด์ แจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร
วิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาพยาบาลและบุคลากรทีมสุขภาพ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าประชุมมีความรู้ ความเข้าใจหลักการทางมนุษย์พันธุศาสตร์ และการแพทย์แม่นยำ ได้ทราบความก้าวหน้าของการดูแลผู้ป่วยโดยใช้หลักการการแพทย์แม่นยำเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานต่อไป ทั้งนี้ผู้เข้าประชุมวิชาการในครั้งนี้ได้รับเกียรติจากวิทยากรและผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานต่าง ๆ เข้าร่วมบรรยายและเสวนา ประกอบด้วย อาจารย์พยาบาล พยาบาลวิชาชีพ บุคลากรทางการแพทย์ และบุคคลทั่วไป จัดการประชุมในรูปแบบ Onsite และ Online ซึ่งมีหัวข้อในการบรรยายและเสวนา เช่น จีโนมิกส์ประเทศไทย สถานการณ์ในอดีตจนถึงปัจจุบัน, การใช้หลักการมนุษย์พันธุศาสตร์และการแพทย์แม่นยำในการให้บริการวินิจฉัยและบำบัดดูแลที่สำคัญในประชากรทุกช่วงชีวิต, ประเด็นทางกฎหมายและจริยธรรมที่เกี่ยวข้องกับพันธุศาสตร์ทางการแพทย์ และบทบาทของบุคลากรทางสุขภาพในยุคพันธุศาสตร์ทางการแพทย์ ฯลฯ รวมทั้งมีการนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมของนักศึกษาระดับปริญญาตรี ในโครงการฯ นี้ด้วย
ที่มา: ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์