สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) จัดงานประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ 2nd NIC-NIDA Conference, 2023 ภายใต้ธีม "New Frontiers of Sustainable Development through Designing and Implementing Re-globalization" ระหว่างวันที่ 17 - 18 สิงหาคม 2566 ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ
โดยกิจกรรมช่วงเช้าของวันที่ 17 สิงหาคม 2566 ได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร. ปรีชา จรุงกิจอนันต์ ปฏิบัติหน้าที่นายกสภาสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เป็นประธานเปิดงานประชุมวิชาการฯ พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ ดร. ทิพวรรณ หล่อสุวรรณรัตน์ อธิการบดี ให้เกียรติกล่าวต้อนรับ Guest Speakers และผู้เข้าร่วมงาน
สำหรับไฮไลท์สำคัญของงานในวันนี้ สถาบันได้รับเกียรติจากองค์ปาฐก 2 ท่าน ได้แก่ ดร. ศุภชัย พานิชย์ภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO) และอดีตเลขาธิการองค์กรการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) และ Prof. Jia Yu จากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ประเทศจีน
ดร. ศุภชัย พานิชย์ภักดิ์ ได้ย้ำเตือนถึงภารกิจหลักสำคัญในฐานะนักวิชาการที่จะเป็นกระบอกเสียงให้กับคนไร้เสียงและมุ่งมั่นทำงานเพื่อคนด้อยโอกาส แม้จะดูเป็นงานที่ท้าทายแต่เราจำเป็นต้องขับเคลื่อนเพื่อไปสู่เป้าหมายนั้นร่วมกัน ดร.ศุภชัย ได้ชี้ให้เห็นมุมมองสองด้านของโลกาภิวัตน์ หรือโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้ต้องแน่ใจด้วยว่าการเปลี่ยนแปลงอย่างทวีคูณนี้จะเป็นประโยชน์สูงสุดสำหรับพวกเราทุกคน และสิ่งคัญคือเราควรต้องคำนึงถึงคำ 3 คำนี้ ได้แก่ 1) ความครอบคลุม 2) ความยืดหยุ่น และ 3) ความยั่งยืน
ด้าน Prof. Jia Yu ได้เน้นย้ำถึงบทบาทการสนับสนุนที่สำคัญของรัฐบาลในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยกล่าวถึงกรณีการเติบโตและการพัฒนาอย่างรวดเร็วทางเศรษฐกิจของจีน โดยจีนและประเทศอื่นๆ ในเอเชียจำเป็นต้องพิจารณาถึงความสำคัญของโลกาภิวัตน์เสียใหม่ Prof. Jia Yu ยังได้กล่าวถึงยุคใหม่ของการเปลี่ยนแปลงสู่โลกาภิวัตน์ และได้ให้แนวทางที่เป็นประโยชน์ซึ่งไม่เพียงแต่ประเทศจีนเท่านั้น แต่รวมถึงประเทศอื่นๆ ในเอเชียก็สามารถนำไปประยุกต์หรือปรับใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมและประเทศชาติของตนเองได้
ภายหลังจากการปาฐกถาพิเศษยังมีกิจกรรม Panel Discussion ภายใต้หัวข้อ "Re envisioning and Redesigning Knowledge and Practice on the Environment, Governance, Economic and Society for Sustainable Development" โดยผู้ทรงคุณวุฒิที่มีชื่อเสียงทั้ง 5 ท่าน ได้แก่ 1) นายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย 2) Prof. Sunhyuk Kim Korea University, Korea 3) ศาสตราจารย์ ดร. พรายพล คุ้มทรัพย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 4) Dewi Haryani, Ph.D. Gadjah Mada University, Indonesia 5) Mr. Christopher G. Moore Best International Crime Fiction Award Winning Writer และ 6) รองศาสตราจารย์ ดร. สิริลักษณา คอมันตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ได้ร่วมกันอภิปรายและนำเสนอประเด็นปัญหาที่น่าสนใจ อาทิ สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางด้านภูมิอากาศ (Climate Change), ปัญหาหนี้ครัวเรือนสะสม สะท้อนมุมมองปัญหาในภาคสังคม ระดับภูมิภาค และระดับโลก เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการร่วมกันขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจังและยั่งยืน ผ่านการออกแบบและการสร้างสรรค์กระบวนการเชื่อมโยงระดับโลก รวมถึงได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการร่วมมือกันของประเทศในแถบภูมิภาคต่าง ๆ เพื่อให้แน่ใจว่ามีเป้าหมายหรือกระบวนการขับเคลื่อนในการส่งเสริมความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรมร่วมกันโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
นอกจากนี้ ในช่วงบ่ายยังมีการจัดกิจกรรมการนำเสนอผลงานวิจัย ผลงานวิชาการระดับชาติของ 12 สาขา ได้แก่ สาขารัฐประศาสนศาสตร์ สาขาบริหารธุรกิจ สาขาพัฒนาการเศรษฐกิจ สาขาสถิติประยุกต์ สาขาการบริหารการพัฒนาสังคม สาขาการบริหารการพัฒนาสิ่งแวดล้อม สาขาภาษาและการสื่อสาร สาขาพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สาขานิติศาสตร์ สาขาการจัดการการท่องเที่ยว สาขานิเทศศาสตร์และนวัตรรมการจัดการ และวิทยาลัยนานาชาติ โดยตลอดการจัดกิจกรรมงานประชุมวิชาการฯ ในวันแรก มีนักวิชาการ คณาจารย์ นักศึกษา และผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมงานกว่า 600 คน
ที่มา: สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์