มจธ. ผุดโครงการ Co-Creation จับมือเอกชนชั้นนำ เฟ้นหาดาวเด่นวิศวะคอมฯ ปี 4 ปั้นนวัตกรรม-ดันรุ่นใหม่สู่การทำจริง

อังคาร ๒๒ สิงหาคม ๒๐๒๓ ๐๙:๐๑
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ร่วมมือกับเอกชนชั้นนำ ผลักดันโปรเจกต์ Co-Creation โครงการฝึกงานรูปแบบใหม่ ให้นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ปี 4 ใช้เวลา 6 เดือน นำทักษะดิจิทัลมาใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพผ่านโจทย์ที่เอกชนกำหนด เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ที่สามารถต่อยอดสู่ตลาดเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัยได้ พร้อมกับเปิดเวทีให้นักศึกษาร่วมแข่งกันกับคนทำงานจริง นำเสนอผลงานเพื่อประโยชน์เชิงธุรกิจ เสริมแกร่งรอบด้านให้นักศึกษา ขณะที่บริษัทเอกชนใช้โครงการนี้เป็นเวทีเฟ้นหาคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถโดดเด่นคัดเลือกเข้าสู่องค์กร

รศ. ดร.ราชวดี ศิลาพันธ์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายพัฒนาการศึกษา คณะวิศวกรรมศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านไอโอที ศูนย์วิจัยนวัตกรรมโลจิสติกส์ มจธ. กล่าวว่า โครงการ Co-Creation เกิดขึ้นจากความตั้งใจที่อยากให้นักศึกษาปี 4 ได้มีโอกาสนำทักษะใช้งานจริงก่อนสำเร็จการศึกษา ผ่านโจทย์ หรือ นวัตกรรมที่มีแนวโน้มนำไปใช้จริงได้ในโลกธุรกิจ โดยร่วมมือกับบริษัทเอกชน จัดเป็นรูปแบบการฝึกงานเข้มข้น 6 เดือน โดยเอกชนจัดทีมงานมาเป็นพี่เลี้ยง พร้อมมอบโจทย์ในการทำงานให้กับนักศึกษา ซึ่งเป็นโจทย์ที่มีทั้งเรื่องใหม่ที่บริษัทต้องการพัฒนา รวมถึงโจทย์ที่บริษัทต้องการต่อยอดนวัตกรรม มาให้นักศึกษาได้ลองคิดค้นโซลูชัน หรือ แอปพลิเคชันที่ตอบโจทย์ดังกล่าว โดยใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีของบริษัทได้อย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยก็ยังมีอาจารย์พี่เลี้ยงที่คอยดูแลและช่วยสนับสนุนการแก้โจทย์และพัฒนานวัตกรรมของนักศึกษาไปตลอดครึ่งปีของการฝึกงาน

"Co-Creation ปีที่ 1 นับว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก มหาวิทยาลัยคัดเลือกนักศึกษาไปฝึกงานที่บริษัทคอนโทรล ดาต้า (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัทซีดีจี ซิสเต็มส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือกลุ่มบริษัท CDG ซึ่งให้การสนับสนุนโครงการ Co-Creation โดยนักศึกษากลุ่มหนึ่งได้คิดค้นพัฒนาเทคโนโลยี Thai ID Card Recognition ตรวจสอบบัตรประชาชนจริงและปลอมขึ้นมา และเป็นโครงการที่ส่งให้นักศึกษากลุ่มนี้ได้รับรางวัลจากเวทีประกวด CDG Innovation Challenge 2022 ที่จัดขึ้นโดยกลุ่มบริษัท CDG แข่งขันบนเวทีเดียวกันกับคนทำงาน ความสำเร็จนี้ทำให้หลังจบโครงการ Co-Creation นักศึกษากลุ่มนี้ได้รับเลือกให้เข้าทำงานกับบริษัทในเครือกลุ่มบริษัท CDG ทันที ซึ่งนับว่าเป็นโอกาสที่สำคัญมากๆ สำหรับนักศึกษา เพราะไม่เพียงได้ทดลองทำงานในโลกการทำงานจริง ยังได้โอกาสทำงานกับบริษัทชั้นนำของประเทศด้วย" รศ.ดร.ราชวดี ศิลาพันธ์ กล่าว

ด้าน คุณวรินทร สีสุขดี ผู้อำนวยการส่วนผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ บริษัท จีไอเอส จำกัด ตัวแทนผู้บริหารจากกลุ่มบริษัท CDG เล่าว่า CDG มองเห็นว่าโครงการ Co-Creation เป็นโครงการที่ได้ประโยชน์ครบวงจร โดยเฉพาะประโยชน์ต่อบริษัท เพราะปัจจุบันเทคโนโลยีเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว มีเทคโนโลยีที่บริษัทต้องการศึกษา อยากพัฒนา ก็ได้ลองสร้างเป็นโจทย์ให้นักศึกษาได้ลองทำ พร้อมกับให้ทีมงานของบริษัทซึ่งมอบหมายเป็นพี่เลี้ยงก็มีโอกาสได้เรียนรู้ไปพร้อมๆกันกับนักศึกษา ทั้งยังได้มุมมองจากอาจารย์พี่เลี้ยงที่มีความเชี่ยวชาญ นำทฤษฎีมาเพิ่มจุดแข็งให้กับโปรเจกต์ ซึ่งช่วยให้โปรเจกต์ที่เกิดขึ้นจากนักศึกษาในโครงการนี้มีความเป็นไปได้สูงที่จะสามารถนำไปต่อยอดให้เป็นผลิตภัณฑ์ดิจิทัลเพื่อธุรกิจได้ ขณะเดียวกันในด้านการเฟ้นหาทรัพยากรบุคคลมาร่วมงาน ก็นับเป็นเวทีที่จะได้คัดสรรคนคุณภาพจากโครงการนี้

คุณวรินทร กล่าวว่า "บริษัทเปิดโอกาสให้นักศึกษาสัมผัสกับการทำงานอย่างเต็มที่ อยากรู้เรื่องไหน หากเป็นเรื่องที่บริษัทยังไม่ได้ทำ ก็ให้พี่เลี้ยงกับนักศึกษาได้ทำไปด้วยกันซึ่งทำได้อย่างดี ในปีแรกนี้ บริษัทเลือกโจทย์ 2 หัวข้อ เป็นโจทย์ใหม่ที่บริษัทยังไม่เคยทำ แต่เกี่ยวโยงกับความต้องการของบริษัท ซึ่งการจะทำอะไรใหม่ๆ บางครั้งอาจยังไม่พร้อมที่จะทำ R&D เราจึงให้นักศึกษาที่มีความรู้ มาลองทำงานร่วมกัน และผลักดันให้เกิดเป็นโปรเจกต์ใหม่ขึ้นมาได้ ทั้งนี้จากปีที่ 1 ได้บทเรียนใหม่ๆ มาต่อยอดสู่ปีที่ 2 โดยปรับขอบเขตของโจทย์ให้เล็กลง เพื่อให้เหมาะสมกับระยะเวลา 6 เดือน และนักศึกษาสามารถออกแบบพัฒนาโซลูชั่น หรือ แอปพลิเคชันที่เห็นภาพและสามารถนำไปศึกษาเพิ่มเติมสู่การสร้างผลงานจริงได้ไม่ยาก"

โครงการ Co-Creation ครั้งแรกจัดขึ้นในปี 2565 โดย มจธ. คัดเลือกนักศึกษาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์จำนวน 14 คน เข้าฝึกงานหลักสูตรเข้มข้นที่บริษัทคอนโทรล ดาต้า (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัทซีดีจี ซิสเต็มส์ จำกัด ซึ่งมีนักศึกษาได้รับเลือกให้เข้าทำงานเป็นพนักงานประจำทันทีหลังจบโครงการ จำนวน 4 คน โดยนักศึกษา 3 ใน 4 คน ได้แก่ นายกรวิชญ์ วาสนารุ่งเรืองสุข, นายทวีศักดิ์ กิ่งโคกกรวด และนายไตรสิทธิ์ มีกรูด ส่งผลงาน Thai ID Card Recognition เข้าประกวดและคว้ารางวัลมาได้สำเร็จ พร้อมกับได้ทำงานในบริษัทคอนโทรล ดาต้า (ประเทศไทย) จำกัด ทันที

โดยจุดเด่นของโครงการ Co-Creation คือ บริษัทกำหนดเพียงโจทย์ว่าสิ่งที่บริษัทอยากได้คืออะไรมาให้ โดยไม่จำกัดเครื่องมือ หรือเทคโนโลยีที่จะใช้ ทีมนักศึกษาสามารถดีไซน์และพัฒนาได้อย่างอิสระ เช่น ผลงาน Thai ID Card Recognition ที่พัฒนาขึ้นเพื่อตรวจสอบจริงกับบัตรปลอม มีความสามารถในการจับภาพ และอ่านข้อความบนบัตรได้อัตโนมัติ ซึ่งปัจจุบันโครงการนี้อยู่ในกระบวนการศึกษาและพัฒนาเพิ่มเติม

"การสร้างโปรเจกต์ค่อนข้างมีความอิสระในการดีไซน์ สามารถเลือกเครื่องมือ ออกแบบโซลูชันเองได้เองทั้งระบบ นอกจากนี้ที่เป็นประสบการณ์มากๆ คือ การได้ pitching หรือแข่งขัน ช่วยให้นักศึกษาได้ฝึกคิดและนำเสนอนวัตกรรมของทีมในมุมธุรกิจ ซึ่งมีความสำคัญมากๆ เมื่อต้องทำงานในอุตสาหกรรมจริงๆ" กลุ่มนักศึกษากล่าว

รศ. ดร.ราชวดี ศิลาพันธ์ กล่าวว่า โครงการ Co-Creation เกิดขึ้นจากแนวคิดของ ผศ.ดร. กานดา บุญโสธรสถิตย์ หัวหน้าศูนย์วิจัยนวัตกรรมโลจิสติกส์ (Login) มจธ. ที่ต่อยอดโครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ หลักสูตรอบรมเข้มข้นให้กลุ่มคนทำงาน ซึ่งพบว่าความรู้จากการสร้างโปรเจกต์ในการอบรม สามารถนำไปต่อยอดและพัฒนาการทำงานขององค์กรได้จริง จึงขยายไอเดียสู่โครงการ Co-Creation เปิดพื้นที่ให้นักศึกษาปริญญาตรี ปี 4 ได้ลองเข้าไปทำงานกับบริษัทและเรียนรู้การทำงานจริง ต่อยอดสู่การสร้างโปรเจกต์หรือผลงานที่มีประโยชน์ต่อบริษัท ได้ประโยชน์ทั้งนักศึกษาและบริษัทที่เข้าร่วมโครงการ Co-Creation

"โครงการ Co-Creation ปี 2566 จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 โดยเริ่มไปตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มจธ. ส่งนักศึกษา ปี 4 เข้าฝึกงานคณะวิศวกรรมศาสตร์ จำนวน 11 คน เข้าฝึกงานในกลุ่มบริษัท CDG และยังคงมุ่งหวังพัฒนาโครงการนี้ไปอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับขยายความร่วมมือสู่บริษัทเอกชนอื่นๆ โดยเฉพาะบริษัทที่มีโปรเจกต์ หรือมีนวัตกรรมที่สนใจ ต้องการพัฒนา รวมถึงบริษัทที่ต้องการเฟ้นหาคนรุ่นใหม่ที่มีฝีมือ มีความสามารถโดดเด่น ได้ทดลองทำงานกับองค์กร และสามารถทำงานร่วมกับองค์กรได้ ก่อนคัดเลือกเข้าเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร ก็เชื่อว่าโครงการ Co-Creation จะตอบโจทย์อย่างมาก" รศ. ดร.ราชวดี เสริม

บริษัทที่สนใจเข้าร่วมโครงการ Co-Creation หรือต้องการสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม สอบถามได้ที่ศูนย์วิจัยนวัตกรรมโลจิสติกส์ (Login) มจธ. ที่อีเมล [email protected] หรือโทร 089 494 0904

ที่มา: ศูนย์วิจัยนวัตกรรมโลจิสติกส์ (Login)

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗ ม.ค. วว. ร่วมกับพันธมิตรเปิดศูนย์การเรียนรู้วิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตไม้ดอกไม้ประดับ ต.เหมืองแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่
๑๗ ม.ค. กระแสดีเกินคาด! WOW Festival 2025 ปรากฏการณ์ใหม่ ปลุกพลังคน เติมเต็มพลังเมือง พร้อมขนเซอร์ไพรส์รอทุกคนถึง 19 ม.ค.
๑๗ ม.ค. นั่งชิลๆ จิบน้ำชายามบ่ายพร้อมขนมเลิศรส ณ ที แอนด์ ทิปเปิ้ล ชั้น 23
๑๗ ม.ค. CPW จัดโปรเด็ด!! ช้อปสินค้าไอทีลดหย่อนภาษีสูงสุด 30,000 บาท
๑๗ ม.ค. LDC เดินหน้าปี 2568 บุกตลาดภาคใต้ เตรียมเปิด 3 สาขาใหม่ ย้ำมาตรฐานศูนย์ทันตกรรม โมเดลโรงพยาบาลขนาดเล็ก
๑๗ ม.ค. เชอร์วู้ดฯ ร่วมกับ มูลนิธิคุณแม่ลี้กิมเกียวฯ แจกนมฮอกไกโด ถั่วมารูโจ้ ส่งความสุข ฉลองวันเด็กแห่งชาติ 2568
๑๗ ม.ค. ขายบัตรแล้ว! นิตยสารแพรว พร้อมเสิร์ฟความน่ารักของ เก่ง น้ำปิง ในงาน Praew Meet Read Into The Wild with Keng
๑๗ ม.ค. ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้ สุขสมหวัง ร่ำรวย เฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีนกับอาหารจีนเลิศรส ณ ห้องอาหารจีนแทพเพสทรี ใน 3 โรงแรมชั้นนำเครือเคป แอนด์
๑๗ ม.ค. เตรียมจองซื้อ หุ้นกู้ดิจิทัลบางจาก อายุ 4 ปี ดอกเบี้ย 3.15% บนแอปฯ เป๋าตัง ครั้งแรกกับการให้สิทธิ์ผู้ถือหุ้นกู้ดิจิทัลบางจากจองซื้อก่อน ดีเดย์ 7-13 ก.พ. 68
๑๗ ม.ค. วิลล่า เทวา รีสอร์ท โฮเทล กรุงเทพฯ ประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยม: ได้รับการจัดอันดับเป็นอันดับ 5 จาก 1,257 โรงแรมในกรุงเทพฯ บนเว็บไซต์