หัวเว่ย ประเทศไทย เปิดตัวโครงการ Seeds for the Future ประจำปี พ.ศ. 2566 ซึ่งถือเป็นโครงการหลักด้านซีเอสอาร์ระดับองค์กรที่ริเริ่มการศึกษาด้านดิจิทัล โดยได้เปิดตัวโครงการที่กรุงเทพฯ ประเทศไทย ณ สำนักงานใหญ่ของหัวเว่ย ประเทศไทย อาคารจีทาวเวอร์ โดยเป็นการรวมตัวนักศึกษาระดับหัวกะทิ 20 คนจากประเทศไทย เพื่อเข้าค่ายฝึกอบรมเป็นเวลา 8 วัน โครงการดังกล่าวมุ่งส่งเสริมทักษะดิจิทัลอันทันสมัย ภาวะผู้นำ และประสบการณ์แลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย ซึ่งผู้เข้าร่วมโครงการจะได้ร่วมพัฒนาโครงการสตาร์ทอัพตามแนวคิด "Tech4Good"
งานเปิดตัวโครงการดังกล่าวได้รับเกียรติจากหน่วยงานภาครัฐบาล และตัวแทนนักศึกษามหาวิทยาลัยในประเทศ ในงานยังได้ย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการสร้างระบบนิเวศสำหรับบุคลากรที่มีศักยภาพทางด้านดิจิทัลในภูมิภาคนี้ อีกทั้งยังเห็นว่าโครงการนี้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาบุคลากรที่มีศักยภาพในประเทศ สามารถยกระดับภาคเทคโนโลยีสารสนเทศให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย และส่งเสริมผู้เข้าร่วมโครงการสร้างกลุ่มผู้มีความเชี่ยวชาญทางทักษะดิจิทัล
ดร. ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) กล่าวว่า "ความร่วมมือในโครงการ Seeds for the Future ระหว่าง depa กับหัวเว่ย ผู้นำด้านเทคโนโลยีระดับนานาชาติ จะช่วยยกระดับนิสิตนักศึกษาที่มีศักยภาพพิเศษได้เป็นอย่างดี พร้อมกันนี้ โครงการดังกล่าวนับเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาระบบนิเวศด้านดิจิทัลของไทย และด้วยองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญจาก หัวเว่ย จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับบุคลากรดิจิทัลในประเทศ อีกทั้งช่วยเสริมศักยภาพและขีดความสามารถทางการแข่งขันแก่เศรษฐกิจดิจิทัลไทยในเวทีระดับโลก"
นายเดวิด ลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารหัวเว่ย ประเทศไทย ย้ำถึงความมุ่งมั่นของบริษัทในการสร้างบุคลากรที่มีศักยภาพว่า "หัวเว่ยทุ่มเทเพื่อสังคมผ่านเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในบริบททางดิจิทัลที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยโครงการ Seeds for the Future นับเป็นโครงการซีเอสอาร์ที่มีการริเริ่มและดำเนินการมาอย่างยาวนานเข้าสู่ปีที่ 15 แล้ว เรามีการคัดสรรบุคลากรรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพโดดเด่นจากทั่วโลก เพื่อเข้าร่วมการฝึกอบรมทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างจริงจัง อันจะเป็นรากฐานสำคัญเพื่อต่อยอดเทคโนโลยีใหม่ในอนาคต ทั้งยังเป็นการพัฒนาทักษะความเป็นผู้นำ และส่งเสริมทักษะการเป็นผู้ประกอบการ โดยมีการดำเนินการในกว่า 140 ประเทศและภูมิภาคต่าง ๆ ก่อให้เกิดประโยชน์แก่นิสิตนักศึกษากว่า 15,000 คนจากมหาวิทยาลัยกว่า 500 แห่ง ซึ่งโครงการนี้ช่วยให้คนรุ่นใหม่ได้ฝึกฝนทักษะที่หลากหลายเพื่อรองรับการเติบโตทางด้านดิจิทัล และเป็นแรงบันดาลใจเพื่อรังสรรค์อนาคตต่อไป"
โครงการ Seeds for the Future 2023 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21 ถึง 29 สิงหาคม พ.ศ. 2566 โดยในงานนี้จะมีผู้เชี่ยวชาญภาคอุตสาหกรรมที่มีชื่อเสียงหลายท่านมาถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น 5G, AI และคลาวด์ นอกจากนี้ ยังเป็นการส่งเสริมให้ผู้เข้าร่วมโครงการพัฒนาตนเอง ผ่านการศึกษาดูงาน ณ ศูนย์ Ecosystem Innovation Center ของหัวเว่ย และสัมผัสประสบการณ์ทางด้านวัฒนธรรมจีน โครงการนี้จะเปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาได้ทำงานเป็นทีมเพื่อพัฒนาโครงการสตาร์ทอัพของตนตามแนวคิด "Tech4Good" แลกเปลี่ยนแนวคิดใหม่ ๆ เพื่อสร้างโลกที่มีความก้าวหน้าทางด้านดิจิทัลต่อไป
ในปี พ.ศ. 2566 นี้ หัวเว่ยได้ปรับปรุงโครงการในด้านต่าง ๆ เพื่อยกระดับคุณภาพทางการศึกษาในโครงการ ซึ่งผู้ฝึกอบรมในโครงการ และผู้ให้คำปรึกษาด้าน Tech4Good จะคอยให้ความช่วยเหลือแก่นิสิตนักศึกษาตลอดเวลา และเมื่อผ่านหลักสูตร Seeds Academy ภาคบังคับ ครอบคลุมทั้งหัวข้อ 5G, AI, Cloud และ Digital Power นิสิตนักศึกษาที่จบหลักสูตรจะได้รับประกาศนียบัตรจากโครงการ นอกจากนี้ ผู้จบหลักสูตรทุกคนจะถือเป็นศิษย์เก่าโครงการ (Seed alumni network) ซึ่งเป็นเครือข่ายสำหรับการติดต่อสื่อสารกับรุ่นพี่โครงการ Seeds for the Future
นอกจากจะเป็นโครงการระดับประเทศแล้ว นิสิตนักศึกษาที่มีศักยภาพโดดเด่นจำนวน 5 คนจะได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนประเทศไทยไปศึกษาดูงานระดับภูมิภาคในประเทศจีน ระหว่างวันที่ 15 ถึง 19 กันยายนนี้ ซึ่งจะมีการเยี่ยมชมสำนักงานใหญ่ของหัวเว่ย ณ เมืองเซิ่นเจิ้น และ ศูนย์วิจัยและพัฒนา ณ เมืองเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ทั้งยังมีโอกาสเข้าร่วมการแข่งขัน Tech4Good ในระดับโลกอีกด้วย นับเป็นโอกาสพิเศษสุดสำหรับทีมจากประเทศไทย ซึ่งหัวเว่ย ประเทศไทยได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะแนะนำให้ทีมได้รู้จักกับนักลงทุนโครงการร่วมทุนต่าง ๆ หากทีมได้รับรางวัลใดรางวัลหนึ่งใน 3 รางวัลสูงสุด โครงการนี้มุ่งหมายเพื่อสนับสนุนและปลูกฝังแนวความคิดสร้างสรรค์ และช่วยให้นิสิตนักศึกษาต่อยอดนวัตกรรมไปสู่ระดับนานาชาติ
นายเดวิด ลี ปิดท้ายด้วยคำยืนยันว่าหัวเว่ยจะสนับสนุนโครงการนี้ต่อไป และมุ่งมั่นที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางบุคลากรดิจิทัลในอาเซียน ตลอดจนส่งเสริมความสำคัญของภาคโทรคมนาคมและชุมชนดิจิทัล "ที่หัวเว่ย เราเชื่อว่า เมล็ดพันธุ์เพียงเมล็ดเดียวก็สามารถเติบโตเป็นต้นไม้ที่แข็งแกร่งได้ และเป็นอนาคตที่สดใส ผมหวังว่า เส้นทางนี้จะช่วยให้เมล็ดพันธุ์แห่งอนาคตด้านดิจิทัลเติบโตในใจของนิสิตนักศึกษา ผมมั่นใจว่า เหล่านิสิตนักศึกษาจะได้รับแรงบันดาลใจจากวิสัยทัศน์แห่งอนาคตด้านดิจิทัล ที่ซึ่งนิสิตนักศึกษาทุกคนจะเป็นผู้ริเริ่มสร้างสรรค์อนาคตไปตามความฝันของตนเองต่อไป"
ที่มา: คาร์ล บายร์ แอนด์ แอสโซซิเอทส์