นักวิจัยโลจิสติกส์ มจธ. แนะ "บริษัทขนส่ง" จัดระบบขนส่งใหม่ ลดความสูญเสีย เพิ่มโอกาสพลิกสร้างกำไร

อังคาร ๒๙ สิงหาคม ๒๐๒๓ ๐๘:๑๓
นักวิจัยด้านโลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เผย ธุรกิจขนส่งในไทยกำลังเผชิญช่วงท้าทายและความยากลำบากของปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบโดยตรงให้ต้นทุนการขนส่งสูงขึ้นมาก ทั้ง ค่าน้ำมันที่ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ค่าจ้างขั้นต่ำที่ปรับสูงขึ้น ทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่กระทบบริษัทขนส่งทุกราย ขณะที่การแข่งขันด้านราคาที่รุนแรง ทำให้บริษัทขนส่งไม่สามารถเพิ่มราคาได้ ดังนั้นสิ่งที่จะช่วยบริษัทขนส่งได้ในตอนนี้คือ การจัดการปัจจัยภายใน โดยรื้อกระบวนการขนส่งทั้งระบบ ซึ่งจะช่วยลดความสูญเปล่าได้ ลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน แต่ยังคงคุณภาพส่งมอบพัสดุและบริการตามที่ผู้บริโภคต้องการ

ผศ.ดร.กานดา บุญโสธรสถิตย์ หัวหน้าศูนย์วิจัยนวัตกรรมโลจิสติกส์ (Login) บัณฑิตวิทยาลัยการจัดการและนวัตกรรม มจธ. กล่าวว่า ธุรกิจขนส่งยังเติบโต เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคและการค้าขายออนไลน์ที่ขยายตัว แต่ทั้งนี้การเติบโตกลับสวนทางกับกำไร เมื่อบริษัทขนส่งหลายรายกำลังเผชิญปัญหาขาดทุนอย่างหนัก หลักๆ มาจากราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง ค่าจ้างที่ปรับเพิ่มขึ้น รวมไปถึงปัจจัยอื่นๆ อย่างอายุการใช้งานของรถขนส่ง ที่ยิ่งเก่าค่าบำรุงรักษายิ่งสูงขึ้น ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นต้นทุนที่บริษัทขนส่งต้องจ่ายและควบคุมได้ยาก ขณะที่การเพิ่มราคาค่าขนส่งยังไม่สามารถทำได้ เนื่องจากการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรง จึงต้องแบกรับภาระต้นทุนต่อไป ดังนั้นสิ่งที่จะช่วยลดต้นทุนได้ บริษัทจึงนำการจัดการโลจิสติกส์มาใช้ โดยวินิจฉัยความสูญเปล่าหลักๆ ของบริษัทว่า เงินรั่วอยู่ที่กระบวนการใดมากที่สุด เพื่อปรับปรุงกระบวนการขนส่งใหม่ เน้นการใช้ทรัพยากรให้น้อยที่สุด ใช้คนให้น้อย เวลาให้สั้น วัสดุให้ต่ำ แต่สามารถส่งมอบคุณภาพของพัสดุและบริการมากที่สุด ส่งถูกเวลา ถูกจำนวน และถูกสถานที่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของคนและรถขนส่งสูงสุด (Productivity) สูงสุด หรือใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด

หัวหน้าศูนย์วิจัยนวัตกรรมโลจิสติกส์ อธิบายเพิ่ม "ตัวอย่างเช่น การจัดเรียงพัสดุบนรถขนส่งให้มีอรรถประโยชน์มากที่สุด โดยให้เกิดช่องว่างของอากาศน้อยที่สุด หรือการจัดวางพัสดุให้เต็มคันรถ เรียกว่า Full Truck Load (FTL) แนวทางเหล่านี้คือการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด หรือมีประสิทธิภาพมากที่สุด แต่ทั้งนี้ก็อาจทำให้ต้องใช้เวลาในการรอขนส่งนานขึ้น เนื่องจากต้องรอให้พัสดุเต็มคันรถ บริษัทจึงต้องหาจุดเหมาะสมที่จะเพิ่มจำนวนพัสดุที่ขนส่งในแต่ละรอบให้มากที่สุด ขณะที่กระทบต่อการรอคอยพัสดุของลูกค้าน้อยที่สุด หรือส่งของให้ได้ภายในระยะเวลารอคอยที่ลูกค้ารับได้ ทั้งนี้ หากบริษัทขนส่งนำแนวทางนี้ไปใช้ในการปรับกระบวนการขนส่งได้ จะช่วยลดต้นทุนได้อย่างแน่นอน"

อีกปัญหาที่ทำให้บริษัทขนส่งไม่ได้รับกำไรเท่าที่ควรยังมาจากการขนส่งเที่ยวเปล่า (Backhaul) คือ รถขนส่งนำพัสดุไปส่งปลายทาง แต่ตีรถเที่ยวเปล่ากลับมาต้นทาง เป็นความสูญเปล่าในกระบวนการขนส่ง ดังนั้นหากบริษัทขนส่งสามารถบริหารจัดการขนส่งเที่ยวเปล่า (Backhauling Management) หรือก็คือ การสร้างพันธมิตรเพื่อขนส่งแบบรวมเที่ยว (Consolidation) ที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีในการรวมพัสดุหลายประเภทจากพันธมิตรหลายเจ้า วิธีนี้ก็จะช่วยลดความสูญเสีย ลดต้นทุน และเพิ่มรายได้ให้บริษัทได้มาก

ผศ.ดร.กานดา บุญโสธรสถิตย์ เสริมว่าอีกปัจจัยที่บริษัทขนส่งต้องพิจารณา คือ การกำหนดรูปแบบจุดให้บริการและการกระจายจุดให้บริการ โดยปัจจุบันบริษัทขนส่งแข่งขันกันที่จุดให้บริการที่เข้าถึงผู้บริโภค มีจุดกระจายและรับส่งพัสดุจำนวนมาก (Decentralization) ทำให้ผู้บริโภคสามารถส่ง-รับพัสดุได้ง่าย สะดวก และรวดเร็ว แต่ทั้งนี้ก็เป็นจุดอ่อนในด้านต้นทุน เนื่องบริษัทขนส่งต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นตามไปด้วย แตกต่างจากรูปแบบการสร้างจุดให้บริการแบบรวมศูนย์ (Centralization) ที่จุดบริการน้อยลง ต้นทุนของบริษัทก็น้อยลง แต่ความสะดวกในการให้บริการลูกค้าก็ลดลงตามไปด้วย การกำหนดจุดให้บริการจึงเป็นอีกปัจจัยที่บริษัทขนส่งต้องวิเคราะห์และประเมินผลได้ผลเสียให้รอบคอบ

"หากบริษัทขนส่งสามารถจัดเส้นทางการขนส่งและลดระยะทางการขนส่งโดยรวมในแต่ละรอบได้ ก็จะช่วยลดต้นทุนได้มาก เนื่องจากระยะทางลดลง ก็จะใช้น้ำมันน้อยลง ใช้เวลาในการขนส่งน้อยลง ด้วยการทำ Routing Optimization คือการหาเส้นทางที่เหมาะสมที่สุด สั้นที่สุด ประหยัดที่สุด ทั้งนี้ การทำ Routing Optimization ที่นิยม คือการจัดโซนขนส่ง (zoning) เช่น ลูกค้ากลุ่ม A อยูใกล้กัน ก็จะมีการจัดรถไปให้บริการลูกค้ากลุ่ม A แล้วก็จะมีการจัดเรียงลำดับในการวิ่งขนส่งลูกค้า เพื่อให้วิ่งส่งพัสดุจากจุดเริ่มต้น แล้ววนกลับมาที่เดิมเป็นวงกลม โดยใช้ระยะเวลาที่สั้นที่สุดซึ่งเรียกแนวทางดังกล่าวว่า Milkrun" รศ.ดร.กานดา กล่าว

ทั้งนี้ ในมุมนักวิจัยด้านโลจิสติกส์ ผศ.ดร.กานดา มองว่า ธุรกิจโลจิสติกส์ที่สามารถผ่านช่วงเวลานี้ไปได้ และปรับกระบวนการขนส่งให้มีประสิทธิภาพ ยังจะสามารถอยู่รอดและเติบโตต่อไปได้อีก โดยการเติบโตเป็นบริษัทขนส่งยุคดิจิทัล เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่บริษัทขนส่งต้องให้ความสำคัญและเริ่มลงทุน เช่น Robotic Process Automation (RPA) ที่ปัจจุบันเริ่มมีการนำมาใช้ทำงานเอกสาร หรืองานที่ไม่ซับซ้อนและมีการทำซ้ำๆ เทคโนโลยีสามารถเข้ามาทดแทนได้ สามารถทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงเทคโนโลยีอื่นๆ ที่นักวิจัยด้านโลจิสติกส์กำลังศึกษาและพัฒนาเพื่อให้บริษัทขนส่งสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีที่ช่วยแก้ปัญหาและเพิ่มความสามารถในการขนส่งได้ด้วยต้นทุนที่จับต้องได้ ไม่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ให้บริษัทขนส่งของไทยสามารถเติบโตและแข่งขันได้ต่อไป

ที่มา: ศูนย์วิจัยนวัตกรรมโลจิสติกส์ (Login)

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๕ พ.ย. ดิ เอราวัณ กรุ๊ป เปิดตัว HOP NextGen ชวนนักศึกษาเยี่ยมชม ฮ็อป อินน์ เรียนรู้เทคนิคบริการแบบ Consistency is Yours พร้อมพัฒนาบุคลากรรุ่นใหม่
๑๕ พ.ย. คิง เพาเวอร์ ต้อนรับเทศกาลแห่งความสุขส่งท้ายปี เปิดแคมเปญ THE POWER OF FUNTASTIC CELEBRATION 2025 ฉลองทุกความสุข สนุกไม่รู้จบ
๑๕ พ.ย. พันธุ์ไทย ชวนแฟนด้อม คัลแลนและพี่จอง จุ่ม การ์ดพันธุ์ไทยใจฟู ลิมิเต็ด อิดิชั่น
๑๕ พ.ย. BAM ทรานส์ฟอร์มองค์กรสู่ DIGITAL ENTERPRISE ตอกย้ำผู้นำ AMC ยุค 4.0 วางเป้าหมายยกระดับองค์กรสร้างโอกาสเติบโตอย่างยั่งยืน เตรียมส่ง อิสระ เดอะซีรีส์ ชวนลูกหนี้ BAM
๑๕ พ.ย. บางจากฯ ได้รับการประเมินด้านความยั่งยืนอันดับสูงสุดของโลก จาก SP Global 2024 ในกลุ่มอุตสาหกรรม Oil Gas Refinery and
๑๔ พ.ย. ซีเอเค อินเตอร์เนชั่นแนล ออกบูธให้ความรู้เรื่องการใช้งานระบบดับเพลิงนร. พระหฤทัยนนทบุรี
๑๒ พ.ย. พนักงานซีเอเค อินเตอร์เนชั่นแนล รับรางวัลเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานดีเด่น
๑๕ พ.ย. PROSPECT REIT ชูไตรมาส 3/67 โตเกินเป้า อัตราการเช่าพุ่งนิวไฮ หนุนจ่ายปันผลเด่น 0.2160 บาท
๑๕ พ.ย. CHAO ประกาศงบ Q3/67 กำไรพุ่งกว่า 62% รับตลาดส่งออกพีค จีนโตเด่น แย้ม Q4 เดินหน้าบุกตลาดในประเทศ สินค้าใหม่หนุนยอดขายปลายปี
๑๕ พ.ย. ฉลองเทศกาลลอยกระทงประจำปี 2567 ณ โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ