ในโอกาสนี้ ทรินา โซลาร์ ได้นำเสนอโมดูลซีรีส์เวอร์เท็กซ์ (Vertex) ขนาด 210 มม. ซึ่งประกอบด้วยโมดูลชนิดเอ็นไทป์ (n-type) ทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ซึ่งมีกำลังการผลิตไฟฟ้าครอบคลุมตั้งแต่ 400 วัตต์, 500 วัตต์, 600 วัตต์ ไปจนถึง 700 วัตต์+
โมดูลเวอร์เท็กซ์ 210 มม. ประกอบด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ที่ผลิตโดยใช้เทคโนโลยีการตัดแบ่งโดยไม่สร้างความเสียหาย พื้นผิวของโมดูลขยายอย่างเต็มที่ด้วยการลดช่องว่างระหว่างเซลล์ ขณะที่เทคโนโลยีมัลติบัสบาร์ (MBB) ทำให้สามารถดูดซับแสงเข้าสู่โมดูลได้มากขึ้น
ทรินา โซลาร์ มีชื่อเสียงจากการเป็นผู้นำในการกำหนดมาตรฐานขนาดโมดูลในอุตสาหกรรมที่ขนาด 2384 x 1134 มม. ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็น "ขนาดทองคำ" ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของโมดูลได้อย่างมหาศาล นอกจากนั้นยังช่วยลดต้นทุนอุปกรณ์ประกอบระบบ (BOS) และต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่อหน่วยปรับเฉลี่ย (LCOE) ด้วยการใช้สายไฟที่ยาวขึ้นและการเพิ่มความยาวของระบบติดตามดวงอาทิตย์
ทรินา โซลาร์ มีความโดดเด่นในอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ เนื่องจากสามารถจัดหาโซลูชันครบวงจรเต็มรูปแบบได้ในที่เดียว และสำหรับงานนี้ บริษัทได้จัดแสดงระบบติดตามดวงอาทิตย์แบบแกนเดี่ยว แวนการ์ด 1พี (Vanguard 1P) รุ่นที่สอง พร้อมด้วย ทรินา สตอเรจ เอเลเมนตา (Trina Storage Elementa) ซึ่งเป็นระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่แบบแยกส่วนที่ยืดหยุ่นและขยายขนาดได้สำหรับการใช้งานในระบบสาธารณูปโภคและไมโครกริด นอกจากนี้ ทรินายังเป็นผู้ผลิตเซลล์แบตเตอรี่เพียงรายเดียวที่มุ่งเน้นโรงไฟฟ้าระดับสาธารณูปโภค ด้วยกำลังการผลิตเซลล์ 8 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี จึงช่วยให้ลูกค้าสามารถกักเก็บพลังงานเป็นระยะเวลายาวนานได้อย่างมั่นใจยิ่งขึ้น
ประเทศไทยเป็นตลาดพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ (IRENA) ระบุว่า การผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของประเทศไทยมีกำลังการผลิตติดตั้ง ณ สิ้นปี 2565 อยู่ที่ 3.07 กิกะวัตต์
ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ประเทศไทยตั้งเป้าว่าจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 15.6 กิกะวัตต์ภายในปี 2579 นอกจากนั้นยังให้คำมั่นในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) ณ เมืองกลาสโกลว์ เมื่อปี 2564 ว่า ประเทศไทยจะบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2608
ทรินา โซลาร์ มีบทบาทอย่างมากในประเทศไทย โดยมีส่วนร่วมในโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งระดับสาธารณูปโภค รวมถึงพาณิชย์และอุตสาหกรรม ยกตัวอย่างเช่น โครงการโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ สยาม ธารา โฟลทติ้ง (Siam Tara Floating) ขนาด 8 เมกะวัตต์ในจังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งเป็นโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำที่ใหญ่ที่สุดโครงการหนึ่งในประเทศไทย ได้เลือกใช้โมดูลเวอร์เท็กซ์ในปี 2564 ขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าของบริษัท เอฟเวอร์ไชน์นิ่ง อินเกรเดียน (Evershining Ingredient) ขนาด 810 กิโลวัตต์ในจังหวัดสมุทรสงคราม ก็เลือกใช้โมดูลเวอร์เท็กซ์ 650 วัตต์เพื่อติดตั้งบนหลังคาโรงงานในปี 2565 โดยถือเป็นโครงการแรกในภาคพาณิชย์และอุตสาหกรรมของไทยที่มีการติดตั้งโมดูลกำลังสูงเช่นนี้
ทั้งนี้ ทรินา โซลาร์ เป็นหนึ่งในผู้จัดแสดงรายใหญ่ในงาน ASEAN Sustainable Energy Week ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 สิงหาคม ถึง 1 กันยายน ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพมหานคร เยี่ยมชมทรินา โซลาร์ ได้ที่บูธหมายเลข F19
เกี่ยวกับทรินา โซลาร์ (688599.SH)
ทรินา โซลาร์ (Trina Solar) คือผู้นำระดับโลกด้านเซลล์แสงอาทิตย์และโซลูชันพลังงานอัจฉริยะครบวงจร บริษัทก่อตั้งขึ้นในปี 2540 และดำเนินธุรกิจครอบคลุมการวิจัยและพัฒนา การผลิต และการจำหน่ายเซลล์แสงอาทิตย์, การพัฒนาโครงการพลังงานแสงอาทิตย์, การรับเหมาก่อสร้าง, การดำเนินงานและบำรุงรักษา, การพัฒนาและจำหน่ายระบบไมโครกริดอัจฉริยะและระบบกักเก็บพลังงานหลายรูปแบบ รวมถึงการบริหารแพลตฟอร์มคลาวด์ด้านพลังงาน ในปี 2561 ทรินา โซลาร์ เปิดตัวแบรนด์ Energy IoT พร้อมจัดตั้งกลุ่มความร่วมมือ Trina Energy IoT Industrial Development Alliance ร่วมกับองค์กรและสถาบันวิจัยชั้นนำทั้งในจีนและทั่วโลก และจัดตั้งศูนย์นวัตกรรม New Energy IoT Industrial Innovation Center ทั้งนี้ ทรินา โซลาร์ ตั้งเป้าจับมือกับพันธมิตรเพื่อสร้างระบบนิเวศ Energy IoT พร้อมพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อสำรวจระบบนิเวศ New Energy IoT โดยบริษัทมุ่งมั่นที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำของโลกในอุตสาหกรรมพลังงานอัจฉริยะ เมื่อเดือนมิถุนายน 2563 ทรินา โซลาร์ ได้จดทะเบียนบนกระดานหุ้น STAR Market ของตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.trinasolar.com