นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม.กล่าวถึงแนวทางการบริหารจัดการและดูแลรักษาต้นไม้ในพื้นที่สาธารณะของ กทม.ว่า หากจะมีการล้อมย้ายต้นไม้ที่ กทม.ดูแล กรณีมีผู้ร้องขอให้ดำเนินการ จะต้องยื่นคำร้องขออนุญาตล้อมย้ายต้นไม้ของ กทม.ที่สำนักงานเขตพื้นที่ที่ต้นไม้ตั้งอยู่ ในกรณีต่าง ๆ อาทิ มีการก่อสร้าง การขอเปิดทางเข้าออกอาคารโดยการตัดคันหินทางเท้า หรือต้นไม้สร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินประชาชน เป็นต้น ซึ่งผู้ยื่นคำร้องต้องเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มีตัวตนจริง และมีความเกี่ยวข้องกับกรณีนั้น ๆ จากนั้นเจ้าหน้าที่จะลงพื้นที่สำรวจ ประเมินสุขภาพและความเสี่ยง เพื่อหาแนวทางแก้ไขและพิจารณาความจำเป็นในการล้อมย้าย ซึ่งจะพิจารณาอนุญาตล้อมย้ายต้นไม้น้อยที่สุดเฉพาะกรณีที่จำเป็นหลีกเลี่ยงไม่ได้แล้วแต่กรณี โดยพิจารณาคิดค่าเสียหายต้นไม้ตามหลักเกณฑ์ฯ และจะติดประกาศ เพื่อให้ประชาชนทราบเหตุผลความจำเป็น หรือผลการประเมินสุขภาพต้นไม้และความเสี่ยงล่วงหน้าก่อนการล้อมย้าย
ทั้งนี้ กทม.ได้มีแนวทางการบริหารจัดการและดูแลบำรุงรักษาต้นไม้ใหญ่ในพื้นที่สาธารณะโดยเฉพาะบนทางเท้า โดยบูรณาการร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับถนน ทางเท้า และหน่วยงานที่รับผิดชอบต้นไม้ โดยการปรับปรุงทางเท้าเดิม ซึ่งสำนักการโยธา (สนย.) จะสำรวจต้นไม้ใหญ่ พร้อมขอความร่วมมือจากรุกขกรภาคเอกชนประเมินความเสี่ยง เพื่อออกแบบทางเท้าให้เก็บรักษาต้นไม้ใหญ่ไว้ให้มากที่สุด โดยสำนักงานเขตฯ จะมีส่วนร่วมสำรวจประเมินต้นไม้และประชาสัมพันธ์รับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนดำเนินการ นอกจากนั้น ยังได้บูรณาการร่วมกับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ตัดแต่งต้นไม้ตามแนวสายไฟฟ้าตามหลักรุกขกรรม เพื่อให้ต้นไม้ใหญ่เจริญเติบโตได้ดีและสายไฟฟ้าปลอดภัย ทำให้จ่ายกระแสไฟได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังร่วมกับกรมทางหลวง (ทล.) ที่รับผิดชอบถนนและทางเท้าบางถนนในพื้นที่กรุงเทพฯ ออกแบบทางเท้าและปลูกพันธุ์ไม้ที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว สร้างความร่มรื่นกำแพงกรองฝุ่นและลดมลภาวะทางอากาศ
ที่มา: กรุงเทพมหานคร