รองศาสตราจารย์ ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดเผยถึงโครงการใหม่ล่าสุดเพื่อส่งเสริมอาจารย์ บุคลากร นักศึกษา และนักวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดล ด้วยการจัดตั้ง "โครงการกองทุนพัฒนานวัตกรรมและผู้ประกอบการเพื่อไปสู่เชิงพาณิชย์" เพื่อให้การสร้างสรรค์และผลิตงานวิจัยไม่สะดุดขาดตอน ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการถ่ายทอด หรือการจัดตั้งบริษัท (Spin Off Company) ที่จะเป็นกำลังสำคัญให้กับเศรษฐกิจชาติ อีกทั้งสนับสนุนการเร่งผลผลิตตามนโยบาย BCG
ที่ผ่านมา มีผู้สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมากและขอรับการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่โดดเด่นเป็นอย่างมาก คือ "นวัตกรรมอาหารฟังก์ชัน" (Functional Food Innovation) ซึ่งวัดกันด้วยการสร้างสรรค์คุณค่าทางโภชนาการที่มาพร้อมกับรสชาติ
โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ มองว่าประเทศไทยได้เปรียบในเรื่องความเป็น "ต้นตำรับของอาหารไทย" ที่มีความกลมกล่อม หอมเครื่องเทศ รสชาติจัดจ้าน ซึ่งเป็นที่ยอมรับของนักชิมจากทั่วโลก เป็นปัจจัยและโอกาสสำคัญที่คอยดึงดูดนักลงทุนได้จากทุกทิศทุกทาง
ภารกิจหลักของสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) มหาวิทยาลัยมหิดล ไม่สำคัญเฉพาะการบ่มเพาะสตาร์ตอัพรุ่นใหม่ พร้อมให้การสนับสนุนสู่เชิงพาณิชย์ด้วยงบประมาณหลักที่จัดสรรให้แต่ละโครงการฯ แต่เพียงเท่านั้น
ยังเสริมด้วยปัจจัยสนับสนุนจาก "โครงการกองทุนพัฒนานวัตกรรมและผู้ประกอบการเพื่อไปสู่เชิงพาณิชย์" ที่พิจารณาให้ตามความจำเป็นตามจริง ไม่ว่าจะเป็น "ค่าจ้างในการทดสอบ" (Proof of Concept) "ค่าวัสดุพัฒนาต้นแบบ" "ค่าจ้างผลิตผลิตภัณฑ์ต้นแบบ" "ค่าจัดทำแผนธุรกิจการตลาด" ตลอดจนค่าใช้จ่ายอื่นๆ ตามสมควร
จนสามารถผลิต "นวัตกรรมต้นแบบ" ก่อนพัฒนาสู่อุตสาหกรรม ภายใต้การปลูกฝังนวัตกรให้ "รับผิดชอบต่อโลก" ด้วยการเติมความ "ใส่ใจในสิ่งแวดล้อม" ลงไปในทุกกิจกรรม
"อาหารฟังก์ชัน" เกิดจากความต้องการดูแลสุขภาพของคนรุ่นใหม่ ในขณะที่โจทย์สำคัญที่ท้าทายโลกไม่ใช่เพียงการมีสุขภาพดี แต่จะต้องสามารถ "ดำเนินชีวิตได้อย่างมีอนาคต" ด้วยการ "ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมโลก"
มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมสนับสนุนนโยบาย BCG เพื่อเป็นกำลังสำคัญให้กับเศรษฐกิจชาติ และพร้อมให้กำลังใจนวัตกรสู่การสร้างสรรค์ผลงานต่อไปได้ที่ www.mahidol.ac.th
ที่มา: มหาวิทยาลัยมหิดล