ปัจจุบันมีสะพานลอยคนข้ามในแนวถนนพรานนกและในแนวถนนตัดใหม่แล้ว เหลือเพียงในแนวถนนจรัญสนิทวงศ์เท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมาได้จัดเตรียมรูปแบบและงบประมาณการก่อสร้างไว้แล้ว แต่เนื่องจากได้รับการร้องเรียนจากประชาชนที่จะไม่ได้รับความสะดวกในการเดินทางจากสะพานลอยคนเดินข้ามไปยังสถานีรถไฟฟ้า จึงได้ประสานการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เพื่อแก้ไขปรับเปลี่ยนรูปแบบและตำแหน่งสะพานลอยคนเดินข้ามใหม่ให้สามารถต่อเชื่อมเข้าถึงสถานีรถไฟฟ้าได้จากสะพานลอยคนข้ามในทุกทิศทาง ซึ่งได้ข้อยุติเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการรื้อย้ายสาธารณูปโภคใต้ดินในตำแหน่งที่จะก่อสร้างฐานรากสะพานลอย คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างสะพานลอยได้ในเดือน ต.ค.66 และจะแล้วเสร็จในเดือน ก.พ.67 โดยในระหว่างที่สะพานลอยยังไม่แล้วเสร็จประชาชนสามารถใช้ทางขึ้น - ลงของสถานีรถไฟฟ้าไฟฉาย เพื่อข้ามถนนจรัญสนิทวงศ์เป็นการชั่วคราวไปได้ก่อน
สำหรับประชาชนในชุมชนวัดใหม่ยายมอญที่ได้รับผลกระทบจากการเวนคืนที่ดินของหน่วยงานราชการ เป็นกรณีพิพาทระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กับประชาชนที่ปลูกสร้างที่อยู่อาศัยบุกรุกพื้นที่ รฟท.แบ่งเป็น 2 กรณี ประกอบด้วย กรณีคดี รฟท.เป็นโจทก์ยื่นฟ้องขับไล่ เพื่อนำพื้นที่มาใช้ประโยชน์แก่กิจการรถไฟ ซึ่งคดีถึงที่สุดแล้ว โดยศาลได้มีคำพิพากษาให้ประชาชนที่บุกรุกย้ายออกจากพื้นที่พิพาท ปัจจุบัน รฟท.ได้รื้อถอนอาคารรุกล้ำออกหมดแล้ว ส่วนการแก้ไขปัญหาเรื่องผู้บุกรุกไม่มีที่อยู่อาศัย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช.ได้เข้ามาดูแลแล้ว และกรณีส่วนที่เหลืออีก 6 หลัง ซึ่งอยู่ในชั้นการพิจารณาคดีของศาลที่จะตัดสินในวันที่ 20 ก.ย.66 รวมถึงการร้องเรียนกรณีน้ำท่วม เป็นส่วนที่ยังอยู่ในชั้นการพิจารณาคดีของศาล
ที่มา: กรุงเทพมหานคร