อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแมลงดำหนาม เป็นศัตรูข้าวที่มักจะกัดกินเนื้อเยื่อส่วนสีเขียวบริเวณใบข้าวทั้งที่เป็นระยะตัวหนอนและตัวเต็มวัย มีวงจรชีวิตรวม 1 - 2 เดือน โดยตัวหนอนจะชอนใบจนเห็นเป็นรอยแผ่นขุ่นขาวขนานกับเส้นทางใบ และตัวเต็มวัยจะแทะผิวใบเป็นรอยขูดขาวขนานตามทางใบคล้ายคลึงกัน ทำให้ใบข้าวเสียหาย หากถูกทำลายรุนแรงเป็นจำนวนมาก ใบข้าวจะแห้งเป็นสีน้ำตาลเหมือนรอยไฟไหม้ ทำให้ผลผลิตลดลง วิธีการสังเกต ให้สำรวจบริเวณกอข้าว แมลงดำหนามข้าวตัวเต็มวัย จะมีปีกแข็งสีดำและมีหนามแข็งแหลมปกคลุมลำตัว ความยาวประมาณ 5 - 6 มิลลิเมตร ตัวเมียชอบวางไข่บริเวณปลายใบข้าวอ่อน ซึ่งตัวเต็มวัยนี้จะมีอายุประมาณ 14 - 21 วัน วางไข่ได้ประมาณ 50 ฟอง ส่วนตัวหนอนที่ฟักออกจากไข่แล้ว มีลำตัวแบนสีขาว สามารถกัดกินเนื้อเยื่อภายในผิวใบข้าวสร้างความเสียหายต่อไปได้
วิธีป้องกันและกำจัด นอกจากเกษตรกรควรหมั่นสำรวจแปลงนาข้าวอย่างสม่ำเสมอในช่วงเช้า และช่วงเย็น ตลอดจนไม่ควรใช้ปุ๋ยไนโตรเจนมากจนเกินไป และกำจัดวัชพืชบริเวณแปลงนาและคันนาแล้ว เกษตรกรยังควรอนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติ ได้แก่ แตนเบียนไข่ และแตนเบียนหนอนด้วย เพื่อควบคุมไม่ให้เกิดการระบาดของศัตรูพืชในวงกว้าง หากสำรวจพบตัวเต็มวัยของแมลงดำหนามข้าวมากกว่า 2 ตัวต่อกอหรือกลุ่มต้นข้าว ควรใช้สารกำจัดฉีดพ่น เช่น ฟิโปรนิล หรือ คลอไทอะนิดีน อัตราตามที่ฉลากแนะนำ หรือถ้าพบการระบาด ให้ติดต่อเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอ หรือสำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้าน เพื่อขอคำแนะนำในการควบคุมการระบาด และสกัดกั้นไม่ให้ลุกลามไปยังพื้นที่อื่นได้
ที่มา: กรมส่งเสริมการเกษตร