ป.ป.ช.แนะเกร็ดความรู้ป้องกันการให้สินบน พ.ร.บ. ป.ป.ช.มาตรา 176

พฤหัส ๐๗ กันยายน ๒๐๒๓ ๐๘:๑๗
สำนักงาน ป.ป.ช. เดินหน้าเชิงรุกให้คำแนะนำเกร็ดความรู้กรณีศึกษาตัวอย่างของการกระทำความผิด และที่ไม่เป็นความผิดฐานให้สินบนตาม พ.ร.บ. ป.ป.ช. มาตรา 176 มุ่งสร้างความรู้ความเข้าใจให้เจ้าหน้าที่รัฐไม่กระทำผิดทุจริต คอร์รัปชัน

นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยว่า สำนักงาน ป.ป.ช. ได้เดินหน้าเชิงรุกให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชน แนะนำเกร็ดความรู้ความเข้าใจ ในกรณีศึกษาเกี่ยวกับการกระทำความผิดฐานให้สินบน และกรณีที่ไม่เป็นความผิดฐานให้สินบน ตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 176 โดยนำเสนอผ่านเพจ "สำนักงาน ป.ป.ช." พร้อมยกตัวอย่างการกระทำความผิดฐานให้สินบน ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของคดีทุจริตหลาย ๆ ครั้ง ที่มักเกิดจากการให้สินบนเพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐกระทำการ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ให้สินบน ซึ่งตามกฎหมายมาตรา 176 วางหลักไว้ว่า "ผู้ใดให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ เพื่อจูงใจให้กระทำการ ไม่กระทำการ หรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษ..."

สำหรับกรณีที่เข้าข่าวความผิดฐานให้สินบนที่สำนักงาน ป.ป.ช. ได้หยิบยกนั้น ได้แก่ กรณีที่จำเลยถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมจากการกระทำความผิด และจำเลยได้พูดโน้มน้าวต่อรองเจ้าหน้าที่ ขอติดสินบนด้วยทรัพย์สินเป็นเงินจำนวนหนึ่ง เพื่อจูงใจเจ้าหน้าที่ไม่ให้จับกุมหรือเพื่อให้ตนเองหลุดพ้นจากข้อกล่าวหานั้น ๆ กรณีดังกล่าวถือว่าความผิดสำเร็จแล้ว เพราะแม้จะยังไม่ได้มีการให้สินบนเกิดขึ้นจริง แต่เข้าข่ายความผิดตามหลักกฎหมายที่เป็นการสัญญาว่าจะให้ทรัพย์สิน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ละเว้นการจับกุม ตลอดจนกรณีการติดสินบนเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตก่อสร้าง ระหว่าง ผู้จัดการบริษัทก่อสร้าง จ่ายเงินสินบนให้แก่ นายกเทศมนตรีเทศบาลแห่งหนึ่ง ซึ่งมีหน้าที่และอำนาจในการอนุญาตให้ปลูกสร้างอาคารในเขตเทศบาลที่รับผิดชอบ เพื่อเร่งรัดการอนุญาตให้ปลูกสร้างอาคารแม้ว่าหลักฐานการขออนุญาตจะไม่เรียบร้อย

นอกจากนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. ยังได้นำเสนอกรณีการกระทำผิดที่ "ผู้ให้เงิน" ไม่เข้าข่ายการให้สินบนแต่ "ผู้รับ" อาจเข้าข่ายการรับสินบน ได้แก่ กรณีที่นายประกันให้เงินแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อให้เร่งดำเนินการติดตามผู้หลบหนีหมายจับให้ ประเด็นนี้ มีคำถามว่า ผิดหรือไม่ผิด ตาม พ.ร.บ. ป.ป.ช. มาตรา 176 บทสรุปคือ ผู้ยื่นข้อเสนอคือนายประกันไม่มีความผิด แต่เจ้าหน้าที่รัฐหรือตำรวจมีความผิดฐานรับเงินสินบน ซึ่งกรณีดังกล่าว จะคล้ายคลึงกับกรณีการให้ค่าน้ำมันรถแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อให้มาตรวจตราความปลอดภัยให้กับชุมชนหรือหมู่บ้าน หรือจ่ายเงินเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมาอำนวยความสะดวกจราจรหน้าร้านอาหารหรือหน้าศูนย์การค้า ซึ่งผู้เสนอให้เงินไม่มีความผิดฐานให้สินบน แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจมีความผิดฐานรับสินบน ทั้งนี้ การที่ผู้ให้เงินในกรณีดังกล่าวไม่ถือว่ามีความผิดฐานให้สินบนเพราะว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจมีหน้าที่จะต้องกระทำการดังกล่าวตามอำนาจหน้าที่อยู่แล้ว เช่น การติดตามจับกุมตัวผู้กระทำผิด การดูแลความเรียบร้อยปลอดภัยในชุมชน และการอำนวยการจราจร เป็นต้น จึงไม่ถือว่าผู้ให้เงินจูงใจให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัตินอกเหนือจากอำนาจหน้าที่ หรือเพื่อให้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่แต่อย่างใด แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งเป็นผู้รับเงินดังกล่าวอาจมีความผิดฐานรับเงินสินบนได้

นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวต่อไปว่า ทรัพย์สินในลักษณะที่เข้าข่ายของรับสินบน ตาม พ.ร.บ. ป.ป.ช. มาตรา 176 ไม่ได้จำกัดเฉพาะเงินหรือทรัพย์สินมีมูลค่าสูงเท่านั้น เช่น ทองคำ หุ้น รถยนต์ อสังหาริมทรัพย์ (บ้าน คอนโด ที่ดิน ฯลฯ) อุปกรณ์สื่อสารทุกชนิด (โทรศัพท์มือถือ โน้ตบุ๊ค แทปเลต ฯลฯ) แต่ยังรวมถึง กระเช้า ของชำร่วย หรือแม้กระทั่งขนมนมเนย เครื่องดื่มและอาหาร รวมถึงการเสนอให้ได้ผลประโยชน์อื่นใด เช่น สิทธิพิเศษ การให้บริการต่าง ๆ ฟรี บัตรกำนัล ฯลฯ อันนำมาซึ่งการจูงใจเจ้าพนักงานของรัฐให้ทุจริตหรือให้ความช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษ ถือเป็นการกระทำความผิดทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการให้สินบนด้วยตัวเองหรือส่งคนกลางเข้ามาเป็นตัวแทนในการเจรจาก็ตาม

ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา นักธุรกิจ เจ้าของกิจการขนาดใหญ่เพียงใด นิติบุคคล หรือผู้ประกอบการรายย่อย หากมีความจำเป็นต้องติดต่อกับเจ้าพนักงานของรัฐในหน่วยงานใดก็ตาม ต้องระมัดระวังไม่กระทำการอันเป็นความผิดฐานให้สินบน และต้องดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด จึงจะช่วยในการสร้างความโปร่งใสในการติดต่อราชการ ส่งเสริมระบบราชการที่ดี และสร้างบรรยากาศ พร้อมยกระดับมาตรฐานในการติดต่อประสานงานกับหน่วยงานของรัฐต่อไปในทุกระดับชั้น

ที่มา: เอ พลัส แอ๊คติเวชั่น

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ