ทั้งนี้ ก.พ.ร. มอบรางวัลเลิศรัฐให้แก่หน่วยงานที่มุ่งเน้นการพัฒนาความเป็นเลิศด้านบริการภาครัฐ ส่งเสริมการยกระดับประสิทธิภาพการให้บริการภาครัฐในการอำนวยความสะดวกและส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน ส่งเสริมให้หน่วยงานของรัฐยกระดับมาตรฐานให้เทียบเท่าสากล ตามเกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐและมุ่งเข้าสู่องค์การที่เป็นเลิศ ในวันที่ 7 กันยายน 2566 ณ ห้อง Grand Diamond Ballroom ชั้น 2 อาคารอิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวถึงผลงาน "การเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์ให้เป็นศูนย์กลางการแพทย์และสุขภาพนานาชาติ" ว่า กลุ่มงานบริการอุตสาหกรรม วว. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการ โดยมุ่งการมีส่วนร่วมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้มีคุณภาพ เป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานสากลและมีความปลอดภัย เพิ่มศักยภาพให้กับผู้ประกอบการทั้งการผลิตและการส่งออก โดยไม่จำเป็นต้องส่งผลิตภัณฑ์ไปทดสอบยังต่างประเทศ ช่วยลดระยะเวลาและค่าใช้จ่าย ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมทางการแพทย์ในประเทศไทยมีผลิตภัณฑ์ที่ได้คุณภาพตามมาตรฐานสากล ช่วยเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์สำหรับจำหน่ายทั้งในประเทศและส่งออกต่างประเทศได้เพิ่มมากขึ้น เพิ่มศักยภาพการแข่งขันในระดับนานาประเทศ ทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการแพทย์และสุขภาพนานาชาติต่อไปอย่างยั่งยืน โดย วว. จะเพิ่มการพัฒนาและต่อยอดไปสู่ผลิตภัณฑ์ขั้นสูง เช่น ชิ้นส่วนด้านทันตกรรม เหล็กยึดตรึงกระดูกและข้อต่อเข่าเทียม เป็นต้น รองรับการออกมาตรฐานเครื่องมือแพทย์ของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถใช้บริการวิเคราะห์ /ทดสอบ/สอบเทียบ สำหรับผลิตภัณฑ์ขั้นสูงได้ต่อไปในอนาคต
"...จุดเริ่มต้นในการพัฒนาผลงานการเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์ให้เป็นศูนย์กลางการแพทย์และสุขภาพนานาชาติของ วว. เป็นผลจากความเชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ทดสอบเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของท้องตลาดและมีคุณภาพตามมาตรฐานกำหนด ปัจจุบัน วว. พบปัญหาของผู้ประกอบการในเรื่องต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ซึ่งประเทศไทยมีทั้งที่ผลิตได้เองและนำเข้าผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ โดยปัญหาของผลิตภัณฑ์คือ ต้องผ่านการวิเคราะห์ทดสอบเพื่อให้ได้คุณภาพ เป็นไปตามมาตรฐานและครอบคลุมด้านความปลอดภัย หากทดสอบได้เองในประเทศ โดยไม่ต้องส่งออกไปทดสอบต่างประเทศ จะช่วยลดต้นทุนได้มากถึง 40.3 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 80.6 ซึ่ง วว. พร้อมตอบโจทย์ด้วยความรู้ความสามารถด้านการวิเคราะห์/ทดสอบ/สอบเทียบ ชิ้นส่วนอุปกรณ์บรรจุภัณฑ์ทางการแพทย์และมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง มีห้องปฏิบัติการที่ได้รับรับรอง ISO/IEC 17025 พร้อมทั้งเครื่องมือที่ทันสมัย ให้ผลการวิเคราะห์/ทดสอบถูกต้องแม่นยำ พร้อมให้บริการผ่านระบบดิจิทัล ที่สามารถรวบรวมฐานข้อมูลลูกค้า/ผู้ประกอบการ นอกจากนั้นลูกค้ายังสามารถตรวจสอบสถานะการให้บริการได้ผ่านแพลตฟอร์ม วว. JUMP ..." ผู้ว่าการ วว. กล่าว
ดร.พัชทรา มณีสินธุ์ รองผู้ว่าการบริการอุตสาหกรรม วว. กล่าวว่า ผลผลิตจากการดำเนินการ "การเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์ให้เป็นศูนย์กลางการแพทย์และสุขภาพนานาชาติ" ประกอบด้วย 1) ประสบผลสำเร็จในการพัฒนาระบบห้องปฏิบัติการวิเคราะห์/ทดสอบ/สอบเทียบ ที่สามารถรายงานผลการวิเคราะห์/ทดสอบ/สอบเทียบ เพื่อรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ตามมาตรฐานสากล 2) ให้บริการวิเคราะห์/ทดสอบ/สอบเทียบ จำนวน 3,215 รายการ จากผลิตภัณฑ์จำนวน 39 ผลิตภัณฑ์ ส่วนผลลัพธ์จากการดำเนินการ มีดังนี้ ผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมทางการแพทย์ในประเทศไทยที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล โดยไม่ต้องส่งผลิตภัณฑ์ไปทดสอบยังต่างประเทศจำนวน 39 ผลิตภัณฑ์ ช่วยลดระยะเวลาการวิเคราะห์/ทดสอบ/สอบเทียบได้ร้อยละ 88.9 และลดระยะเวลาการวิเคราะห์ฯ ลงโดยรวมจาก 8-9 เดือน คงเหลือ 1 เดือน ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการวิเคราะห์/ทดสอบ/สอบเทียบได้เฉลี่ยร้อยละ 90.0 และช่วยเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ได้เฉลี่ยร้อยละ 5.8 ต่อชิ้น และลดต้นทุนได้เฉลี่ยร้อยละ 80.6
นอกจากผลผลิตและผลลัพธ์ดังกล่าวแล้ว ยังส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อผู้ประกอบการที่ได้รับบริการหรือมีการนำผลงานวิจัยและพัฒนาของ วว. ไปใช้ประโยชน์ ในการใช้โครงสร้างพื้นฐานด้านเครื่องมือแพทย์ คือ ต้นทุนลดลงเฉลี่ย 40.3 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 80.6 สามารถลงทุนเพิ่ม 39.8 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 118.7 มีรายได้เพิ่มขึ้น 382.2 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1,465.1 และมีกำไรเพิ่ม 1.52 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 72.4 นอกจากนี้ประชากรในประเทศไทยจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีจากการตรวจรักษาและป้องกันโรค ด้วยเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ ประชากรจากต่างประเทศในทุกภูมิภาคทั่วโลก มีความเชื่อมั่นในอุตสาหกรรมทางการแพทย์ของไทย ซึ่งเป็นศูนย์กลางการแพทย์และสุขภาพนานาชาติ มีความเชื่อมั่นในการรักษาสุขภาพด้วยระบบการแพทย์ไทย ดังนั้นจากการเพิ่มของผู้ประกอบการและอุตสาหกรรมการแพทย์ในประเทศ จะช่วยเพิ่มการจ้างงานในระบบและเพิ่มแรงงานเข้าสู่ระบบประกันสังคม ทำให้ประชากรที่มีความมั่นคงในรายได้มีจำนวนมากขึ้น กล่าวคือ รายได้เพิ่ม 1.07 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 968.3 ลดค่าใช้จ่ายได้ 5.0 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 99.9 รวมผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากการดำเนินผลงาน "การเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์ให้เป็นศูนย์กลางการแพทย์และสุขภาพนานาชาติ" เป็นจำนวน 470.43 ล้านบาท
ที่มา: สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย