รองศาสตราจารย์ ดร.ทรงศักดิ์ ศรีอนุชาต นายกสมาคมพิษวิทยาแห่งประเทศไทย ประธานจัดงานประชุม กล่าวว่าการประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างความเข้าใจถึงบทบาทของนักพิษวิทยาเพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ภายใต้แนวคิด "BCG Model (Bio-Circular-Green Economy)" ซึ่งเป็นการพัฒนาแบบองค์รวม มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจใน 3 มิติ ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) โดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาเสริมสร้างจุดแข็งของประเทศ ทลายข้อจำกัด สร้างมูลค่าเพิ่ม ให้เกิดการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน ดังนั้น การพัฒนาเศรษฐกิจในรูปแบบใหม่ภายใต้การขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG นับเป็นความท้าทายและโอกาสของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะภาคเกษตรและอาหาร ที่ต้องพัฒนาธุรกิจควบคู่ไปกับการคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค
ด้วยเหตุนี้ การประชุมพิษวิทยาในครั้งนี้ ได้รวบรวมองค์ความรู้ของนักพิษวิทยาที่มีประสบการณ์ในการศึกษาวิจัยที่สอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG เช่น โปรตีนทางเลือก ความปลอดภัยของอาหารที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเซลล์ การปฏิบัติทางการเกษตรภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนและและเศรษฐกิจสีเขียว นโยบายและยุทธศาสตร์ชาติที่เกี่ยวกับ BCG และการขับเคลื่อน ประกาศ/ระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการใช้วัสดุบรรจุภัณฑ์รีไซเคิล เป็นต้น
ทั้งนี้ การจัดประชุมภายใน 2 วันนี้ สมาคมพิษวิทยาแห่งประเทศไทย ในฐานะที่เป็นหนึ่งในองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการเป็นศูนย์กลาง รวบรวมผลงานวิจัยและการศึกษาล่าสุดด้านพิษวิทยามาเผยแพร่ ตลอดจนเป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยน ประสบการณ์ของนักพิษวิทยานั้น ได้รวบรวมองค์ความรู้ด้านพิษวิทยาที่ขานรับการพัฒนาโมเดลเศรษฐกิจ BCG เพื่อให้ผู้เข้าร่วมฟังการประชุมวิชาการในครั้งนี้ ได้นำไปต่อยอดผลิตผลงานวิจัยด้านพิษวิทยารองรับการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบในการพัฒนาเศรษฐกิจ และที่สำคัญ คือ ส่งเสริมให้เกิดมาตรฐานความปลอดภัยจากสารพิษ และความเป็นพิษต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยให้ผู้บริโภคในฐานะนักพิษวิทยา
ที่มา: สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล