และอีกส่วนหนึ่งคือการจัดการควบคุมการไหลของน้ำในลำน้ำ (Off Site) เพื่อควบคุมความเร็วการไหลไม่ให้มีความเร็วมากจนเกิดการกัดเซาะลำน้ำ (Channel Erosion) เพื่อชะลอการไหลของน้ำด้วยการปรับความลาดชันของลำน้ำเดิม พร้อมก่อสร้างฝายชะลอน้ำเป็นช่วงๆ เพื่อลดความเร็วของกระแสน้ำ และรักษาความชุ่มชื้นให้กับดิน นอกจากนี้ ได้มีการพัฒนาและฟื้นฟูพื้นที่เกษตรกรรมด้วยการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ที่ดิน โดยสร้างบ่อดักตะกอนขนาดใหญ่ทำหน้าที่ดักตะกอนและเป็นแหล่งน้ำสำรองเพื่อการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง พร้อมระบบกระจายน้ำด้วยท่อและคลองส่งน้ำ เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตพืชของพื้นที่เกษตรกรรมในโครงการ นับตั้งแต่ดำเนินโครงการมาจนถึงขณะนี้ปรากฎผลสำเร็จที่ชัดเจน จากกรณีผลกระทบจากพายุไต้ฝุ่นเมื่อปี 2565 ทำให้มีปริมาณน้ำฝนเพิ่มมากขึ้น แต่ด้วยระบบบริหารจัดการพื้นที่ลุ่มน้ำด้วยมาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำ ที่สามารถรับมือกับปริมาณน้ำไหลบ่าที่มีประสิทธิภาพ ทำให้พื้นที่เกษตรกรรมในพื้นที่โครงการดังกล่าวได้รับความเสียหายน้อยมากเมื่อเทียบกับพื้นที่ใกล้เคียง
ที่มา: กรมพัฒนาที่ดิน