อินฟลูเอนเซอร์ชื่อดัง ร่วมแชร์ประสบการณ์เส้นทางสู่ความสำเร็จ ในงาน Gen Will Survive โดยมูลนิธิเอสซีจี

พุธ ๑๓ กันยายน ๒๐๒๓ ๐๙:๕๑
เพราะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในยุคสมัยปัจจุบัน ทำให้ชีวิตของใครหลายคน เต็มไปด้วยการต่อสู้ ดิ้นรน แข่งขัน เพื่อพาตัวเองไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ ดังนั้น การเอาตัวรอดโดยไม่ทำให้ใครเดือดร้อน ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะไม่ว่าคุณจะเป็นใคร หากเอาตัวรอดในยุคนี้ไม่ได้ ชีวิตลำบากแน่นอน

มูลนิธิเอสซีจี จึงได้เชิญเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ที่ประสบความสำเร็จในชีวิต มาร่วมบอกเล่าประสบการณ์ เพื่อถ่ายทอดแรงบันดาลใจให้แก่ผู้เข้าฟัง ในงาน Gen Will Survive เมื่อวันก่อน โดยมี เคน-นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ นัก Podcast ชื่อดังระดับประเทศ ผู้ก่อตั้งสำนักข่าวออนไลน์ The Standard ที่มาให้แรงบันดาลใจ พร้อมด้วยเหล่า Survivors ที่มาร่วมแชร์ประสบการณ์ในครั้งนี้ มิว-ศุภศิษฎ์ จงชีวีวัฒน์ นักร้อง นักแสดงสุดฮอต ผู้มากความสามารถ ที่ปัจจุบันเป็นนักธุรกิจหนุ่มไฟแรง แห่งบริษัท SOL SKIPPER ฝน-ทัตชญา ศุภธัญสถิต หรือ MonsterFon ครีเอทีฟ & โปรดิวเซอร์มือทอง ฝีปากกล้า ตัวตึงของวงการ ที่วินาทีนี้ไม่มีใครไม่รู้จักเธอ และ เอแคลร์ จือปาก เจ้าของเพจและยูทูปเบอร์สายกิน สายเที่ยว สายความงาม ตัวแม่ ผู้มีเรื่องราวการเอาตัวรอดที่สุดแสนประทับใจ จากเด็กตัวเล็กๆ ที่ได้ต่อสู้ ฝ่าฟัน จนทำให้ความฝันเป็นจริงได้ในฐานะ ยูทูปเบอร์ อินฟลูเอนเซอร์ บิวตี้บล็อกเกอร์ เจ้าของเพจชื่อดัง "จือปาก" โดยมี วู้ดดี้-วุฒิธร มิลินทจินดา พิธีกรฝีปากคม ผู้ก่อตั้งวู้ดดี้ เวิลด์ และ ตั้ม-วราวุธ โพธิ์ยิ้ม ศิลปินพิธีกรชื่อดัง ร่วมกันเป็นผู้ดำเนินรายการ

เคน-นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ กล่าวว่า ส่วนตัวแล้วเชื่อว่าชีวิตควรเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน แต่โลกที่เปลี่ยนไปทำให้การใช้ชีวิตซับซ้อนมากขึ้นในปัจจุบัน ต้องก้าวอยู่ตลอดเวลา เหมือนบันไดเลื่อนที่ไม่หยุดนิ่ง จากประสบการณ์ที่ได้พูดคุยกับผู้มากมาย เขาได้ถอดรหัสของความสำเร็จนี้ออกมาเป็น 4P ได้แก่

  • Passion ให้โอบกอดความล้มเหลวแล้วตามหาความฝันหรือสิ่งที่ตัวเองชอบ
  • Professionalism ขยายความเชี่ยวชาญของตัวเองแล้วทำให้ตัวเองโดดเด่นที่สุด
  • Purchaser Inside เปลี่ยนทักษะให้เป็นรายได้ เพราะมันคือความยั่งยืนของตัวเราเอง
  • Purpose การจะเปลี่ยนโลกไม่ต้องรีบ ค่อยๆ ก้าวทีละก้าว

"ชีวิตเราไม่ได้เกิดมาเพื่อทำงาน ทำงานเป็นแค่ส่วนหนึ่งของชีวิต อีกด้านนึงของชีวิต อย่าลืมให้ความสำคัญมันจนลืมคนรอบข้าง ส่วนตัวแล้วไม่เชื่อเรื่องของ Work Life Balance เพราะมันยากเกินไปที่จะรักษาสมดุลตลอดเวลา และจังหวะชีวิตแต่ละช่วงมันก็ไม่เหมือนกัน แต่เชื่อในเรื่อง The Flow of Life เวลา เป็นสิ่งที่มีค่ามากที่สุด และพลังงานในตัวเรา ก็สำคัญมากเช่นกัน เราจะให้น้ำหนักอะไรกับสิ่งไหน นั่นคือเราให้ความสำคัญกับสิ่งนั้น ส่วนตัวแล้ว ให้ความสำคัญในเรื่องเวลาและพลังงานกับ Work-Health-Play-Love คือการทำงาน -การมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงเพื่อจิตใจจะได้แข็งแกร่ง-การมีเวลาสำหรับงานอดิเรกหรือความสนุกในชีวิต-และความรักความสัมพันธ์ของเรากับเพื่อน พ่อ แม่ คนรัก สัตว์เลี้ยง เพื่อนร่วมงาน หรือสังคม"

ด้านเหล่า Survivors ที่มาร่วมแชร์ประสบการณ์การเอาตัวรอด มิว ศุภศิษฏ์ จงชีวีวัฒน์ กล่าวถึงมุมมองในการอยู่รอดของตนว่า "ครอบครัวของตนเป็นคนรุ่นเก่า ในเรื่องการเรียนก็กำหนดมาว่าต้องเรียนแค่หมอหรือ วิศวะเท่านั้น ในขณะที่ตัวเองชอบศิลปะมากกว่า และได้พบกันครึ่งทางโดยยอมเรียนวิศวะทั้งที่ไม่เก่งฟิสิกส์ และต้องหาวิธี "รอด" ให้ได้ทั้งที่ไม่ชอบและไม่ถนัด ด้วยการเลือกเรียนสาขาอุตสาหการ เพราะเน้นด้านบริหารมากกว่าฟิสิกส์ และช่วงที่เรียนก็เริ่มรับงานบันเทิง ทำให้สนุกเพราะทำงานแล้วได้เงิน จึงต้องแข่งกับตัวเองในความรู้สึกที่จะต้องเรียนให้จบ จึงเต็มที่กับการเรียนและตั้งใจกับการสอบในแต่ละครั้ง รวมถึงการบริหารเวลาในการอ่านหนังสือเพื่อเตรียมตัวสอบ ไปพร้อมกับการแบ่งเวลาทำงานในวงการบันเทิงไปในเวลาเดียวกัน"

"มิว" ยังบอกอีกว่า เมื่อได้ตัดสินใจที่จะต้อง "รอด" สิ่งที่เห็นในชีวิตของตนเอง และสำคัญมากๆ คือเรื่องของการปรับตัว เพราะการทำงานส่วนใหญ่ต้องเจอคนที่มีความหลากหลาย การศึกษา สังคม และประสบการณ์ ที่แตกต่างกัน ทำให้เราไม่สามารถทำงานด้วยวิธีเดียวหรือแบบเดียวกับทุกๆ คนได้

หากต้องเลือกคนมาร่วมงานด้วย "มิว" บอกว่า นอกจากคุณสมบัติของแต่ละตำแหน่งแล้ว เขาอยากได้คนที่มีความสนุกกับการทำงาน เมื่อบรรยากาศดี ก็จะทำงานได้อย่างเต็มที่ พร้อมให้คำแนะนำคนที่สมัครงานว่า ควรสำรวจข้อดีข้อเสียของตัวเองคืออะไร นอกจากนี้ การใช้ Social Media สมัยนี้ ก็ต้องใช้อย่างรอบคอบ โดยเฉพาะการทำอะไรใน Social Media มันจะกลายเป็น Digital Footprint ของตัวเองไปตลอด ดังนั้นการจะทำอะไรต้องคิดให้ดีก่อนทำและให้รักตัวเองมากๆ

ฝน-ทัตชญา ศุภธัญสถิต หรือ ฝน MonsterFon กล่าวถึงคอนเซ็ปต์ในการ "รอด" ของตนว่า "ตนโชคดีเพราะได้เรียนในสิ่งที่ชอบ แต่ก็กังวลว่าจบแล้วจะทำงานอะไร เพราะสิ่งที่เรียนมาคือเรื่องศิลปะล้วนๆ เมื่อเรียนจบก็นำความชอบส่วนตัวในเรื่องดูหนัง ฟังเพลง มาใช้เป็นทักษะในการสมัครงาน และได้เริ่มทำงานกับ Channel [V] ซึ่งได้ทำอยู่นาน 7 ปีก่อนจะย้ายไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่อื่น งานที่ทำจะต้องพบเจอกับคนจำนวนมากและต้องรับฟังหลายๆ คน ทักษะที่ได้มาจากการฟังคนเยอะ ทำให้มีความเข้าใจ ไม่ได้ตัดสินใคร ทุกครั้งที่ต้องทำงานร่วมกับคนอื่น จะไม่มีอาการเกร็งต่อกัน ทำงานร่วมกันได้ง่ายขึ้น"

สำหรับ Gen Z ที่จะมาทำงานด้วยนั้น "ฝน" บอกถึงเทคนิคการเลือกคนร่วมงานไว้ว่า ส่วนตัวเชื่อเรื่องการฝึกงาน เพราะมันเป็นเสมือนการคัดกรองอันดับหนึ่ง เพราะเป็นการทดลองเพื่อให้ได้รู้ว่างานนั้นเหมาะกับตนเองหรือไม่ โดยที่คนนั้นจะต้องมีทักษะที่รอบตัวแม้ว่าจะไม่ใช่ทักษะในตำแหน่งที่สมัครงานเข้ามา และคนสมัครงานเข้ามาควรมีความตั้งใจในการสมัครเข้ามา หลายๆ องค์กรต้องการคนที่จะพัฒนาได้มากกว่าคนเก่ง

เอแคลร์ จือปาก กล่าวถึงทักษะการรอดว่า "ตนเองคิดมาตลอดว่ามีโอกาสทำทุกอย่างแค่ครั้งเดียว ดังนั้นต้องทำทุกอย่างให้ดีเสมอกับทุกโอกาสที่มีเข้ามา ในเวลาเดียวกันก็ต้องฝึกทักษะต่างๆ ให้พร้อมเสมอที่จะนำมาใช้ในแต่ละสถานการณ์ เมื่อเราตัดสินใจที่จะ "รอด" ให้เป็น"

"เอแคลร์" บอกว่าตนเองเป็นคนที่ยืดหยุ่นได้ดีในทุกสถานการณ์ เพราะได้หมั่นฝึกฝนทุกทักษะมาตลอด และความยืดหยุ่นนี้ นำไปใช้กับงานทุกงานที่ได้รับมา นั่นคือสาเหตุที่ช่องยูทูปของเธอประสบความสำเร็จแม้จะเป็นช่องยูทูปเล็กๆ นอกจากนี้ ก็พร้อมที่จะลองและพร้อมที่จะทำในสิ่งใหม่ๆ รวมถึงเชื่อมั่นในตนเองว่าทำได้และทำได้ดี

หากต้องเลือกคนมาทำงานด้วย "เอแคลร์" บอกว่าอยากได้คนที่เคมีเดียวกัน มีความคิดความเชื่อเหมือนกัน ธรรมชาติของคนมาร่วมงานใหม่มักจะไม่กล้าลงมือทำอะไร "เอแคลร์" ก็จะปรับ mindset น้องๆ เสียใหม่ ย้ำให้เห็นว่าทุกคน "ทำได้" และต้องหาแรงบันดาลใจว่าทำทุกอย่างได้ จะได้มีแรงขับเคลื่อนในชีวิตต่อไป การเลือกคนร่วมงาน ส่วนตัวคิดว่าแค่มองสบตาหรือมองพฤติกรรมบางอย่าง ก็จะรู้ว่า คนๆ นี้มีทักษะการทำงานเก่งไหม ทำงานได้จริงไหม นอกจากนี้ การสมัครงาน หากสมัครตรงตามความชอบ จะมีรังสีแผ่ออกมาให้เห็นอย่างชัดเจนว่างานนี้เหมาะกับตนเอง นอกจากนี้ เยาวชน คน Gen Z มีคู่แข่งเยอะมาก จึงต้องใช้ทักษะที่มีอยู่รอบตัวเอามาปรับใช้กับการทำงานให้ได้

ด้าน วู้ดดี้-วุฒิธร มิลินทจินดา สรุปว่า "การเป็นตัวของตัวเองไม่ใช่เรื่องผิด แต่มันอาจจะขวางทางไปสู่ความสำเร็จในบางมิติ เชื่อว่าทุกคนต่างก็มีหนทางของตัวเองในการอยู่รอด ซึ่งไม่ใช่แต่เรื่องของ Gen Z แต่เป็นเรื่องของทุก Gen เพราะยุคนี้อยู่ไม่ได้ง่าย แต่ทุกคนก็ต้อง "รอด" ให้ได้เพียงหาตัวเองให้เจอ"

สามารถติดตามความคืบหน้า และติดตามข้อมูลข่าวสารของมูลนิธิเอสซีจี ได้ที่ www.scgfoundation.org เฟซบุ๊ก LEARNtoEARN และ Tiktok LEARNtoEARN

ที่มา: อินทิเกรเต็ด คอมมูนิเคชั่น

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๑๒ ฉลองเทศกาลตรุษจีนปีงูเล็ก ที่โรงแรมดุสิตธานี กระบี่ บีช รีสอร์ท
๑๗:๐๐ IMPACT เผยปี 68 ข่าวดี! โครงการ Sky Entrance รถไฟฟ้าสายสีชมพูมาตามนัด หนุนทราฟฟิคแน่น - จับมือพาร์ทเนอร์
๑๗:๕๒ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม สนับสนุนโครงการ กู้วิกฤตและอนุรักษ์พะยูน ครั้งที่ 2
๑๗:๕๘ แสนสิริ เจ้าตลาดคอนโดแคมปัส อวดโฉม ดีคอนโด วิวิด รังสิต คอนโดใหม่ตรงข้าม ม.กรุงเทพ
๑๖:๔๓ เอ็นไอเอ - สสส. ดึงนิวเจน สรรค์สร้างนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพ ในแคมเปญ The Health Promotion INNOVATION PLAYGROUND
๑๗:๕๘ กรมวิทย์ฯ บริการ เร่งพัฒนาระบบ e-Learning ยกระดับการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ
๑๖:๕๘ เขตจตุจักรกวดขันคนไร้บ้านเชิงสะพานข้ามคลองบางซื่อ สร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
๑๗:๑๗ เขตพระนครประสานกรมเจ้าท่า-เอกชน เร่งปรับปรุงภูมิทัศน์ท่าเรือสุพรรณเดิม
๑๗:๔๐ กทม. กำชับเจ้าของอาคารตรวจสอบโครงสร้างบันไดเลื่อน เพิ่มความปลอดภัยประชาชน
๑๖:๓๗ แลกเก่าเพื่อโลกใหม่ ช้อปคุ้ม พร้อมลดหย่อนภาษี! 'เปลี่ยนของเก่าเป็นความคุ้ม' ผ่าน Easy E-Receipt ได้ที่โฮมโปร เมกาโฮม