ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรศักดิ์ สวัสดี ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์กล่าวว่า ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดโคกเหล็ก ยกระดับเป็น "ศูนย์สาธิตการจัดการเรียนรู้แบบ High Scope ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กนำร่องแห่งแรกของภาคใต้" เกิดจากการ บูรณาการความร่วมมือและสนับสนุนงบประมาณระหว่างองค์การบริหารส่วนตำบลไทยบุรีและมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เพื่อดำเนินโครงการเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาของเด็กปฐมวัย มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับขีดความสามารถและปิดช่องว่างผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเด็กปฐมวัยในท้องถิ่นด้วยการจัดการเรียนการสอนแบบ "High Scope" สร้างความรู้ความเข้าใจและการยอมรับการพัฒนาของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบ
โดยจัดทำ Pilot project นำร่อง ตามแนวทางของโครงการด้วยกระบวนการอบรมและศึกษาดูงาน พร้อมทั้งทดลองดำเนินการจัดกิจกรรมการสอนตามแนวทาง High scope มีการเก็บข้อมูล การสำรวจสถานการณ์เด็กปฐมวัยในจังหวัดนครศรีธรรมราช ผ่านแบบสำรวจความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษา ผลการดำเนินงานและผลลัพธ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทำให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดโคกเหล็ก ผ่านการประเมินด้วยผลคะแนนกว่าร้อยละ 95 จากผู้ประเมินศูนย์อบรม High Scope ต้นแบบ "ไรซ์ไทยแลนด์" โรงเรียนสมานคุณวิทยาทาน อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเด็กปฐมวัยของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดโคกเหล็กแห่งนี้ โดยเฉพาะทักษะ Executive Functions : EF หรือทักษะสมองเพื่อจัดการชีวิตให้สำเร็จ ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 40 นับเป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่างองค์กรปกครองส่วนถิ่นและสถาบันการศึกษาในพื้นที่ และนำมาสู่ผลงานเชิงประจักษ์ด้านการส่งเสริมการศึกษาและพัฒนาการของเด็กปฐมวัย สังกัดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จังหวัดนครศรีธรรมราช และยังสอดคล้องกับตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ Sustainable Development Goals (SDGs) เป้าหมายที่ 4 ความเสมอภาคทางการศึกษาอีกด้วย
"การจัดการเรียนการสอนแบบ "High Scope"เป็นการสอนที่เน้นการเรียนรู้จากการลงมือทำผ่านการเล่น และสื่อกิจกรรมที่เหมาะสมกับพัฒนาการตามวัยของเด็ก พร้อมเสริมสร้างทักษะการแก้ปัญหาและให้โอกาสเด็กมีความคิดริเริ่มในการออกแบบการเล่นได้ด้วยตัวเองอย่างอิสระ ตามทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญาของเปียเจต์ นักการศึกษาคนสำคัญของโลก ซึ่งการสร้างองค์ความรู้ของผู้เรียนเป็นพื้นฐานที่สำคัญ โดยเฉพาะการเรียนรู้แบบลงมือทำ หรือ Active Learning ที่จะทำให้เด็กได้เรียนรู้จากประสบการณ์โดยตรง สร้างกระบวนการคิดและความเข้าใจ มีองค์ความรู้และทักษะการแก้ปัญหาด้วยตนเอง ซึ่งการเรียนแบบ ไฮสโคป ถือเป็นการเรียนรู้ที่เน้นการพัฒนาศักยภาพของเด็กโดยแท้จริง ที่สามารถสร้างความภาคภูมิใจให้เด็กเมื่อทำสิ่งต่าง ๆ สำเร็จได้ด้วยตนเอง เป็นการฝึกการเรียนรู้ การทำงานอย่างมีระบบ ขั้นตอน และเรียนรู้การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ด้วยตนเอง" ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรศักดิ์ กล่าว
ที่มา: มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์