การบริหารและแก้ไขปัญหาที่สำคัญของประเทศเศรษฐกิจภาคครัวเรือนถึงในระดับมหภาค
ต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมาประชาชนส่วนใหญ่ ต่างเผชิญกับปัญหาสารพัด ทั้งปัญหาค่าครองชีพ สินค้าที่จำเป็น ข้าวของมีการปรับราคาสูงขึ้น ค่าน้ำ ค่าไฟ รวมถึงการเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือน ซึ่งปัญหาปากท้องของประชาชนส่วนใหญ่นี้ล้วนส่งผลกระทบต่อปริมาณ และกำลังซื้อที่จะส่งผลต่อภาคการผลิตและภาคอุตสาหกรรมในที่สุด จะเห็นได้ว่าแม้ภาวะเศรษฐกิจไทยจะยังไม่ถึงขั้นย่ำแย่นัก เนื่องจากยังมีภาคท่องเที่ยวเข้ามาช่วยพยุง แต่ตัวเลขการผลิตและการส่งออก ซึ่งมีตัวเลขติดลบมาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ปัญหาความเหลื่อมล้ำ และโครงสร้างทางภาษีเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดของประเทศที่รอการแก้ไข
ดังนั้น รัฐบาลใหม่จึงมุ่งเน้นไปที่การใช้งบประมาณส่วนใหญ่ไปกับการกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายประชานิยมที่หาเสียงไว้เป็นหลัก แทนที่จะเร่งแก้ไขปัญหาที่มาจากโครงสร้างหลัก ในส่วนนี้ถ้าหากรัฐบาลทำได้สำเร็จ ก็จะทำให้เกิดการกระตุ้นการบริโภคได้ในระยะสั้นเท่านั้น ซึ่งจำเป็นต้องเร่งวางรากฐานสำหรับการสร้างความมั่นคงให้กับสังคมในระยะยาว
นอกจากนี้ ยังมีทั้งข้อคิดเห็นทั้งจากภาคประชาชนและการอภิปรายในที่ประชุมรัฐสภา ในการเร่งแก้ปัญหาที่สำคัญอื่นๆ นอกเหนือจากการแก้ปัญหาโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคม อาทิ การจัดการระบบสาธารณูปโภคอย่างมีประสิทธิภาพ, การสร้างคุณภาพชีวิต ความอยู่ดีกินดีให้กับประชาชน, การแก้ไขปัญหาอาชญากรรมและภัยออนไลน์, การเพิ่มรายได้และสร้างโอกาสให้กับประเทศ, การพัฒนาด้านเกษตรกรรมในวิถีใหม่, ผลักดันให้เกิดเศรษฐกิจดิจิทัล, การนำองค์ความรู้และส่งเสริมนวัตกรรมขั้นสูงมาใช้ในการขับเคลื่อน, การเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีเพื่อนำมายกระดับภาคผลิตและภาคธุรกิจ, การพัฒนากำลังคนและสนับสนุนภาคแรงงานทักษะสูง, บูรณาการให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาระหว่างภาครัฐและเอกชน, การปรับแนวคิดทางการเมืองจากความขัดแย้งสู่ความร่วมมือ, การเร่งสร้าง Soft Power ประเทศไทยให้มีคุณค่า สะท้อนแบรนด์และความโดดเด่นในเวทีโลก
การขับเคลื่อน Soft Power เพื่อส่งเสริมแบรนด์ และธุรกิจของไทยให้มีความเชื่อมั่นและน่าสนใจในเวทีโลก
แม้ว่าขณะนี้ ภาพนโยบายของรัฐบาลจะยังไม่มีความชัดเจนมากพอ แต่อย่างไรก็ตาม ในด้านของการส่งเสริมการลงทุน และการส่งเสริมการท่องเที่ยวเป็นอีกประเด็นที่รัฐบาลให้น้ำหนักมากพอสมควร เพราะเป็นจุดที่สำคัญมากในการที่ประเทศสามารถยืนอยู่บนเวทีของโลกได้อย่างสง่างาม ซึ่งที่ผ่านมาต่างชาติได้รอดูท่าที และกรอบนโยบายด้านส่งเสริมจากรัฐบาลใหม่ ที่จะกระตุ้นให้มีความแตกต่างจากเดิมอย่างไร หรือให้การส่งเสริมในรูปแบบใดบ้าง
อีกสิ่งหนึ่งที่ได้มีการกล่าวถึงคือการให้ความสำคัญ ในการสื่อสารเพื่อสร้างคุณค่าให้กับประเทศ เพื่อสร้างความน่าสนใจ เป็นการประชาสัมพันธ์ สื่อแบรนด์หรือภาพลักษณ์ของประเทศ ด้วยความโดดเด่นอันเป็นอัตลักษณ์ เพื่อเป็น Soft Power เป็นอีกภารกิจที่รัฐบาลและผู้เกี่ยวข้อง ต้องให้ความสนใจในการขับเคลื่อนให้เป็นยุทธศาสตร์อย่างจริงจัง โดยใช้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการสื่อสาร เพื่อกำหนดกลยุทธ์การสื่อสาร Content เนื้อหา กิจกรรม การออกแบบการใช้สื่อ ให้สอดคล้องกับเป้าหมาย และบริบทของพฤติกรรมในการบริโภคและรับสื่อที่เปลี่ยนแปลงไป
ในส่วนของการสร้าง Soft Power ของประเทศนั้น กำหนดแนวคิดหลักเกี่ยวกับแบรนด์ของประเทศไทยที่ชัดเจน หรือต้องการให้เกิดขึ้น ทั้งในส่วนที่ต้องสร้าง ปรับปรุงและขยายจากจุดเด่นต่างๆ ทั้งการส่งเสริมสถานที่ท่องเที่ยว ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี การขับเคลื่อนด้วยศิลปิน ผู้มีชื่อเสียง มีความโดดเด่น วิถีชีวิต ความปลอดภัย นโยบายที่เอื้อต่อการลงทุน แนวทางการรับมือกับปัญหาโครงสร้างทางสังคม การสร้างความน่าเชื่อถือของผู้นำทั้งในเวทีนานาชาติ และที่สำคัญก็คือการจัดทำแผนรับมือกับวิกฤตต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพที่เชื่อถือได้ เพื่อที่ทุกหน่วยงาน ภาครัฐ ภาคเอกชน จะได้ดำเนินไปในแนวทางเดียวกัน
เรื่อง Soft Power มีผลต่อภาพลักษณ์ หรือแบรนด์ของประเทศเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก จะแยกทำเป็นส่วนๆ ไม่ได้ ไม่ใช่แค่เรื่องของกระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงต่างประเทศ สำนักนายกรัฐมนตรี การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เท่านั้น แต่ต้องเป็นองค์รวมแบบบูรณาการ ร่วมกับองค์กรมากมาย เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงศึกษาธิการ ภาคเอกชนขนาดใหญ่ องค์กรภาคสังคม องค์กรวิชาชีพ เป็นต้น ต่างต้องเข้ามาช่วยกันตามบทบาทหน้าที่และศักยภาพ ไปในแนวทางเดียวกัน มีองค์กรที่รับผิดชอบอย่างจริงจัง มีเป้าหมาย มีแผนงาน กลยุทธ์ แนวทางในการดำเนินงาน การจัดการเนื้อหาในการสื่อสารของประเทศ รูปแบบ วิธีการสื่อสาร ที่เป็นรูปธรรมชัดเจน เพราะภาพลักษณ์เป็นเรื่องของการสื่อเนื้อหา ความเชื่อมั่น ความรู้สึก ความผูกพันและทัศนคติ ที่ต้องสื่อสารอย่างต่อเนื่องแบบมีกลยุทธ์ต้องใช้เวลาพอสมควร ยอมรับว่าเป็นเรื่องยากมาก แต่เป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุดนับจากนี้ โดยเฉพาะการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศในภาพรวม ส่งเสริมและฟื้นฟู ภาคเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม เกษตรกรรม การท่องเที่ยว เริ่มจากในประเทศแล้วขยายสู่ต่างประเทศต่อไป
ในขณะเดียวกัน ประเทศมีจุดอ่อนที่ส่งผลต่อการจัดการภาพลักษณ์ แบรนด์ของประเทศหลายประการ ทั้งเรื่องความไม่เป็นเอกภาพของรัฐบาล ความขัดแย้งทางการเมือง การแสวงหาผลประโยชน์ทางการเมือง ขณะที่เรื่องเศรษฐกิจการเงิน ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน คุณภาพชีวิต ความมั่นคง ความสามารถในการแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ที่ต้องเผชิญในเวทีโลก การรับมือกับวิกฤตศรัทธาทางด้านการเมือง การจัดการด้านการสื่อสารทั้งของรัฐบาลเอง และการสื่อสารแบรด์ของประเทศให้มีความน่าเชื่อถือ คือภารกิจที่เป็นความท้าทายของรัฐบาลใหม่ในขณะนี้
อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลสามารถดำเนินการแก้ไข พัฒนา ภายใต้การสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน ปรับปรุงการทำงานอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อ Disruption ในตลาดโลก ทั้งนี้ เชื่อว่าจากการที่ประเทศไทยมีต้นทุนที่ดี มีศักยภาพมากพอ ถ้าหากมีการกำหนดนโยบายที่ดี ได้การทำงานของคณะรัฐบาลที่มีความเป็นมืออาชีพ มีการปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก นั่นคือความหวังของคนไทย และการตอบโจทย์ที่ท้าทาย นั่นเอง
ที่มา: พีอาร์ แอนด์ แอสโซซิเอส