ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. มีนโยบายที่มุ่งส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยการนำเรื่องระบบปัญญาประดิษฐ์มาเสริมความรู้และสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ เพื่อให้เกิดนวัตกรรมที่หลากหลายและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ โดยการถ่ายทอดองค์ความรู้จากการใช้โดรนและการนำระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI จะสามารถนำไปต่อยอดในมิติการพัฒนาประดิษฐกรรมด้านต่าง ๆ รวมทั้ง การสร้างการเรียนรู้ เพื่อมุ่งสู่การพัฒนานักประดิษฐ์ที่จะนำความรู้เทคโนโลยีในเรื่องโดรน ไปพัฒนาต่อยอดและปรับใช้กับการเรียนรู้และการปฏิบัติงาน การอบรมในครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ โรงเรียนพิบูลมังสาหาร อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี เป็นที่น่ายินดีที่มีการตอบรับเข้าร่วมการอบรมและพัฒนาความรู้ในจำนวนหลายร้อยคน
นายพิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล นายกสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ กล่าวว่า สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ ร่วมกับ วช. จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการการถ่ายทอดเทคโนโลยีโดรนแปรอักษรเพื่อประยุกต์สู่การใช้งาน ให้กับนักเรียน นักศึกษา ในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีโดรนแปรอักษรที่ทันสมัย เพื่อนำไปประยุกต์ใช้งาน ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการสร้างนวัตกรรมและนวัตกร ที่จะนำความรู้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ หรือ โดรน มาปรับใช้กับการทำงานในด้านต่าง ๆ ที่ผ่านมาในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สมาคมฯ ได้จัดการอบรมดังกล่าวในจังหวัดนครพนม จังหวัดหนองคาย จังหวัดเลย และในครั้งนี้จัดเป็นครั้งที่ 4 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่โรงเรียนพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งการเรียนรู้ได้เน้นสนับสนุนให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติและลงมือทำ ในสภาพแวดล้อมจริง ได้ฝึกคิด ฝึกปฏิบัติ เพิ่มทักษะด้วยตนเองผ่านกิจกรรม "โดรนแปรอักษร"
ภายในงานมีเยาวชน นักเรียนนักศึกษา และผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมพิธีเปิดการอบรมโดรนแปรอักษรครั้งนี้ จำนวนกว่า 3,000 คน โดยมีการถ่ายทอดประสบการณ์การใช้งานโดรนจากทีมหนูน้อยจ้าวเวหารุ่นบุกเบิกของโรงเรียนพิบูลมังสาหาร นอกจากนี้ ยังมีการแสดงโปงลางของวงโปงลางศิลป์ไทรเงิน โรงเรียนพิบูลมังสาหาร อีกด้วย
สำหรับโครงการ "อบรมเชิงปฏิบัติการการถ่ายทอดเทคโนโลยีโดรนแปรอักษรเพื่อประยุกต์สู่การใช้งาน" สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ โดยการสนับสนุนจาก วช. มีการจัดการอบรมไปแล้วทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ได้สร้างความตื่นตาตื่นใจ มีการใช้แพลตฟอร์มระบบปัญญาประดิษฐ์ ส่งเสริมให้ใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยี ตลอดจนก่อให้เกิดการสร้างนวัตกรรมและนวัตกร ที่จะนำองค์ความรู้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับที่ได้รับมาพัฒนาต่อยอดและปรับใช้กับการทำงานในด้านต่าง ๆ ในอนาคต และจะมีการเฟ้นหาผู้ชนะในการแข่งขันโดรนแปรอักษรจากตัวแทนที่มาจากภูมิภาคต่าง ๆ ในระดับประเทศต่อไป
ที่มา: สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ