ในงานสัมมนาดังกล่าว Ms. Lv Weihong รัฐมนตรีช่วยว่าการสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้กล่าวเปิดงาน โดยเน้นย้ำเรื่องความสำคัญและความจำเป็นของการยกระดับความร่วมมือด้านความปลอดภัยอาหารระหว่างประเทศสมาชิก BRI รวมถึงการจัดตั้งกลไกในการทำงานด้านความปลอดภัยอาหารร่วมกัน การสร้างช่องทางการแลกเปลี่ยน แจ้งเตือนและร่วมกันจัดการปัญหาด้านความปลอดภัยอาหาร พร้อมด้วยผู้แทนจากประเทศต่างๆ อาทิ โอมาน รวันดา ศรีลังกา เมียนมาร์ และเซอร์เบีย รวมถึงผู้แทนจากองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO) กล่าวแถลงรายงานเกี่ยวกับความสำคัญด้านความปลอดภัยอาหารและแนวทางการประยุกต์ใช้ รวมถึงความร่วมมือด้านความปลอดภัยอาหารนำเข้าและส่งออกระหว่างประเทศสมาชิก
ด้าน นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ได้กล่าวในนามกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทย แสดงวิสัยทัศน์และความตระหนักต่อความสำคัญด้านความปลอดภัยอาหารของไทยตลอดห่วงโซ่ ในหัวข้อ "Food Source Safety Control in Thailand" ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยได้ร่วมมือกันเพื่อจัดการให้อาหารและสินค้าเกษตรที่นำมาเป็นอาหารบริโภคสำหรับมนุษย์มีความปลอดภัย (Safety) มีความมั่นคง (Security) และความยั่งยืนของทรัพยากรและนิเวศการเกษร (Sustainability) ตามหลัก BCG (Bio-Circular-Green) ตั้งแต่ระดับฟาร์มต่อเนื่องไปจนถึงการแปรรูป และสืบเนื่องไปถึงผู้บริโภค พร้อมกับมีระบบการควบคุมคุณภาพ การตรวจสอบรับรอง และการสืบย้อนกลับ โดยสนับสนุนการนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ อีกทั้งมุ่งเน้นจุดยืนด้านความปลอดภัยและมาตรฐานสินค้าเกษตรของไทยว่าจะเป็นไปตามมาตรฐานสากล และสร้างความเชื่อมั่นว่าสินค้าเกษตรและอาหารของไทย ผลิตด้วยความปลอดภัยทั้งระบบ เพื่อผู้บริโภคภายในประเทศ และส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศด้วย
นอกจากนี้ ในห้วงเวลาดังกล่าว เลขาธิการ มกอช. ได้เดินทางเพื่อเข้าร่วมงานนิทรรศการแสดงสินค้าจีน-อาเซียน หรือ China-ASEAN Expo (CAEXPO 2023) ครั้งที่ 20 ซึ่งจัดขึ้นที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมระหว่างประเทศนครหนานหนิง (Nanning International Convention & Exhibition Center) โดยได้หารือกับผู้ประกอบการไทยที่มาออกบูธในงาน CAEXPO อีกยังได้เข้าเยี่ยมชมงานด้าน Smart Agriculture และการแสดงสินค้าของมณฑลต่างๆ ของจีนภายในงานดังกล่าว พร้อมกับได้เยี่ยมชมตลาดค้าส่งสินค้าเกษตร Hi-green หนานหนิง ซึ่งได้มีการนำเข้าสินค้าผลไม้จากอาเซียนซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลไม้จากประเทศไทย (ร้อยละ 46) อาทิทุเรียน มังคุด และลำไย ส่วนของเวียดนาม (ร้อยละ 45) จะเป็นทุเรียนและแก้วมังกร
ที่มา: สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ