"อิฐโบราณศรีเทพเหมือนอิฐโบราณทั่วไป คือเป็นอิฐดินเผาผสมแกลบ แต่ในการบูรณะเราใช้อิฐยุคปัจจุบันไปใช้ ซึ่งพบว่าก่อปัญหาต่อโบราณสถาน เนื่องจากมีการใช้ปูนซีเมนต์เป็นยาแนว และปูนซีเมนต์นี้ไปขวางเส้นทางการระบายความร้อนและความชื้น จึงเก็บความชื้นไว้ทำให้วัตถุที่นำไปซ่อมแซมเกิดการผุกร่อน ไม่เพียงเท่านั้นยังส่งผลให้อิฐของเก่าในโบราณสถานเสียหายไปด้วย ขณะที่อิฐโบราณจะใช้ยาแนวที่มีส่วนผสมของปูนหมักและดินสอพอง ซึ่งมีสมบัติในการส่งผ่านความร้อนและความชื้นได้ดี แต่เรายังไม่พบสูตรการผลิตอิฐโบราณและยาแนวโบราณของเมืองโบราณศรีเทพ" ดร.วุฒิไกร บุษยาพร หนึ่งในทีมวิจัยเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ระบุ
ทั้งนี้ ดร.วุฒิไกร บุษยาพร และทีมวิจัยวางแผนในการใช้แสงซินโครตรอนวิเคราะห์อิฐโบราณ และจะเริ่มศึกษาอิฐของเจดีย์รายที่อยู่ถัดจาก "เขาคลังนอก" โบราณสถานขนาดใหญ่ของเมืองโบราณศรีเทพ ซึ่งเจดีย์ดังกล่าวมีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาเจดีย์รายที่รอบๆ และอยู่ในมีทิศที่ชี้ตรงไปเขาถมอรัตน์ โดยจะถอดสูตรอิฐโบราณเพื่อผลิตขึ้นใหม่ให้ใกล้เคียงของเดิมมากที่สุด และมีสมบัติในการส่งผ่านความร้อนและความชื้นที่ใกล้เคียงของเดิมหรือดีกว่าเดิม ตั้งเป้าใช้ดินเหนียวด่านเกวียนของ จ.นครราชสีมา สำหรับผลิตอิฐสูตรโบราณ เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ให้แก่ชุมชนด่านเกวียนด้วย
ที่มา: สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน