นายชุติพนธ์ กิตติเกษมศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คิงสเตลล่า กรุ๊ป จำกัด เปิดเผยว่า "บริษัทฯ เข้าร่วมโครงการ CSR-DIW ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา โดยรางวัลที่ได้รับมาก่อนหน้า มีดังนี้ รางวัล CSR-DIW for Beginner ปี 2012 (พ.ศ.2555), รางวัล Pre CSR-DIW ในปี 2016(พ.ศ.2559) ต่อมาเป้น รางวัล CSR-DIW Award ปี 2017 (พ.ศ.2560) และล่าสุดคือ รางวัล CSR-DIW Continuous ในปี 2023 (พ.ศ.2566) ซึ่งรางวัลดังกล่าวถือเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความทุ่มเทขององค์กรที่ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามหลักกฎหมายและข้อกำหนด แสดงถึงความรับผิดชอบในการดูแลสังคม การมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนให้เกิดความยั่งยืน ครอบคลุมแนวทางทั้ง 7 ด้าน คือ การกำกับดูแลองค์กรสิทธิมนุษยชน การปฏิบัติด้านแรงงาน การดูแลสิ่งแวดล้อม การดำเนินงานอย่างเป็นธรรม ความใส่ใจต่อผู้บริโภค และการมีส่วนร่วมพัฒนาชุมชนเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งในด้านต่างๆ ซึ่งเราพร้อมให้ความสำคัญและพัฒนาในทุกด้าน"
สำหรับรางวัล CSR-DIW Continuous Award ที่ บริษัท คิงสเตลล่า กรุ๊ป จำกัด ได้รับในปีนี้ เป็นรางวัลสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้นำหลักปฏิบัติของมาตรฐาน CSR-DIW ไปประยุกต์ใช้อย่างต่อเนื่อง ถือเป็นรางวัลเกียรติยศที่แสดงให้เห็นว่า บริษัท คิงสเตลล่า กรุ๊ป จำกัด เป็นหนึ่งในสถานประกอบการมีมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นหนึ่งในประเภทรางวัล ภายใต้โครงการ CSR-DIW โดยปีนี้ ได้รับเกียรติจาก นายณัฏฐพงษ์ จุลาเกตุโพธิชัย ผู้อำนวยการกองพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม (ผอ.กอน.กรอ.) เป็นผู้มอบ
"สถานประกอบการของ KSG ยึดแนวทางการดำเนินงานภายใต้กลยุทธ์ 3 เสาหลัก คือ การพัฒนามิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องตามหลักปรัชญา 3 ประโยชน์สู่ความยั่งยืนของบริษัทฯ คือ ประโยชน์ต่อประเทศชาติ ประชาชน และบริษัท อย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของทุกคน
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้กำหนดกลยุทธ์ความยั่งยืน KSG 2023 Sustainability in Action เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ(Sustainable Development Goals : SDGs) ทางตรงทั้ง 17 เป้าหมาย ซึ่งภายใต้กลยุทธ์ดังกล่าว KSG ให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรเกิดประโยชน์สูงสุด ภายใต้แนวคิด BCG อาทิ
- เศรษฐกิจชีวภาพ(Bio Economy) ด้วยการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกี่ยวกับสินค้าให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
- เศรษฐกิจหมุนเวียน(Circular Economy) ด้วยการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุดตลอดกระบวนการผลิต, การใช้บรรจุภัณฑ์รักษ์โลกเพื่อผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน
- ระบบเศรษฐกิจสีเขียว(Green Economy) ด้วยการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม, ลดของเสียทั้งทางตรงและทางอ้อม, ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน การติดตั้งระบบสร้างพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และรวมการส่งต่อไปยังชุมชนด้วยการติดตั้งเครื่องกลเติมอากาศระบบ Solar cell เพื่อดูแลสภาพน้ำสาธารณะอย่างยั่งยืน" นายชุติพนธ์ กล่าว
โครงการ CSR-DIW หรือ โครงการส่งเสริมโรงงานอุตสาหกรรมให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชน เพื่อเป้าหมายการฟื้นฟูและยกระดับเศรษฐกิจและสังคม (CSR-DIW to Covid-19 Relief) และแถลงผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาและยกระดับเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสู่เมืองสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ประจำปีงบประมาณ 2566 ครั้งนี้ จัดโดย กรมโรงงานอุตสาหกรรม (DIW) กระทรวงอุตสาหกรรม โดยได้รับเกียรติจาก นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นประธานเปิดงาน ซึ่งจัดขึ้นเพื่อมุ่งส่งเสริมการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม และการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) แก่ผู้ประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรม และให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างผู้ประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรมกับชุมชนทำให้มีการพึ่งพากันในสังคม (Social Symbiosis) และขับเคลื่อนการพัฒนาในพื้นที่ให้เป็นไปอย่างยั่งยืน ทั้งยังต้องการเพิ่มศักยภาพให้แก่ วิสาหกิจชุมชนขนาดเล็กและขนาดกลางให้มีความเข้มแข็ง สามารถแข่งขันในตลาดการค้าได้อย่างมั่นคงอีกด้วย
ที่มา: บริษัท โฟร์ฮันเดรท จำกัด