ดีป้า เผยอุตสาหกรรมดิจิทัลไทย ปี 2565 โต 14% มูลค่ารวมแตะ 2.61 ล้านล้านบาท กลุ่มอุตสาหกรรมบริการดิจิทัลขยายตัวสูงสุด สร้างรายได้กว่า 2.8 แสนล้านบาท

พฤหัส ๒๑ กันยายน ๒๐๒๓ ๑๔:๕๒
ดีป้า ร่วมกับ สถาบันไอเอ็มซี เผยผลสำรวจข้อมูลและประเมินสถานภาพอุตสาหกรรมดิจิทัล ประจำปี 2565 และคาดการณ์แนวโน้ม 3 ปี ระบุภาพรวมอุตสาหกรรมดิจิทัลไทยปี 2565 เติบโต 14% มีมูลค่ารวม 2,614,109 ล้านบาท โดยอุตสาหกรรมที่ขยายตัวสูงที่สุดคือ อุตสาหกรรมบริการดิจิทัล ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มต่าง ๆ เติบโตขึ้นจากปีก่อนถึง 21% มีมูลค่า 281,515 ล้านบาท รองลงมาคืออุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ที่เติบโต 19% มีมูลค่า 190,766 ล้านบาท อุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ เติบโต 18% มีมูลค่า 1,431,980 ล้านบาท พร้อมคาดการณ์โตต่อเนื่องถึงปี 2568

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า และ สถาบันไอเอ็มซี แถลงผลสำรวจข้อมูลและประเมินสถานภาพอุตสาหกรรมดิจิทัล ประจำปี 2565 ใน 5 อุตสาหกรรมหลัก ประกอบด้วย อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ (Software) อุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ (Hardware and Smart Devices) อุตสาหกรรมบริการดิจิทัล (Digital Services) อุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ (Digital Content) และอุตสาหกรรมสื่อสาร (Telecommunication) และคาดการณ์แนวโน้ม 3 ปี ณ อาคารดีป้า ลาดพร้าว

ดร.กษิติธร ภูภราดัย รองผู้อำนวยการใหญ่ กลุ่มงานยุทธศาสตร์และความมั่นคง ดีป้า เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมดิจิทัลไทยปี 2565 ซึ่งประกอบด้วย 5 อุตสาหกรรมหลักคือ อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ (Software) อุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ (Hardware and Smart Devices) อุตสาหกรรมบริการดิจิทัล (Digital Services) อุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ (Digital Content) และอุตสาหกรรมสื่อสาร(Telecommunication) มีมูลค่ารวม 2,614,109 ล้านบาท ขยายตัวจากปีก่อนหน้าเฉลี่ย 14% โดยมีอัตราการเติบโตอย่างมากในทุกอุตสาหกรรม โดยอุตสาหกรรมที่ขยายตัวสูงที่สุดคือ อุตสาหกรรมบริการดิจิทัลโดยเฉพาะ FinTech และ Health Tech ซึ่งเป็นไปตามเทรนด์ของโลก

มูลค่าซอฟต์แวร์โต 19% นำเข้ายังสูงกว่าส่งออก

ภาพรวมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ ปี 2565 มีมูลค่ารวม 190,766 ล้านบาท เติบโต 19% ขณะที่การส่งออกมีมูลค่า 2,453 ล้านบาท เติบโต 9% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 49,568 ล้านบาท เติบโต 23% จากการสำรวจฐานข้อมูล 13,013 บริษัท ซึ่งดำเนินธุรกิจต่าง ๆ อาทิ การจัดทำซอฟต์แวร์สำเร็จรูป การจัดทำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ตามวัตถุประสงค์ของผู้ใช้งานบริการเทคโนโลยีสารสนเทศและคอมพิวเตอร์อื่น ๆ การบริหารจัดการประมวลผลข้อมูล ฯลฯ

สำหรับมูลค่าซอฟต์แวร์มีมูลค่ารวม 78,043 ล้านบาท เติบโต 18% แบ่งเป็นซอฟต์แวร์ที่ติดตั้งในเครื่อง (On-Premise) มูลค่า 47,549 ล้านบาท และซอฟต์แวร์เช่าใช้ (Cloud/SaaS) มูลค่า 30,494 ล้านบาท ส่วนบริการซอฟต์แวร์ที่ประกอบด้วย ประเภทผู้ติดตั้งระบบ (System Integrator) ประเภทบำรุงรักษาซอฟต์แวร์ (Software Maintenance) ประเภทปรับแต่งซอฟต์แวร์ (Software Customization) และประเภทฝึกอบรมและที่ปรึกษา (Consult/Training) มีมูลค่ารวม 112,723 ล้านบาท เติบโต 19% โดยประเภทปรับแต่งซอฟต์แวร์มีมูลค่าสูงที่สุด คือ 33,802 ล้านบาท รองลงมาเป็นประเภทบำรุงรักษาซอฟต์แวร์มีมูลค่า 31,073 ล้านบาท และประเภทผู้ติดตั้งระบบมีมูลค่า 27,090 ล้านบาท

เมื่อพิจารณาจากความต้องการซอฟต์แวร์ทั้งในประเทศและต่างประเทศยังคาดว่า อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องระหว่างปี 2566-2568 จากมูลค่า 218,999 ล้านบาท เป็น 241,775 ล้านบาท และ 265,469 ล้านบาทตามลำดับ

ตลาดฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะขยายตัวตามไลฟ์สไตล์สังคมเมือง

ปี 2565 อุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ ซึ่งแบ่งตามสินค้าและอุปกรณ์ 6 ประเภท ได้แก่ คอมพิวเตอร์ (Computer) อุปกรณ์ต่อพ่วง (Peripheral) เครื่องพิมพ์ (Printer) อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล (Storage) อุปกรณ์อัจฉริยะ (Smart Devices) และ หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (Robot and Automation) มีมูลค่า 1,431,980 ล้านบาท เติบโต 18% โดยแบ่งเป็นมูลค่าการนำเข้า 438,508 ล้านบาท เติบโต 13% มูลค่าส่งออก 993,472 ล้านบาท เติบโต 19%

โดยประเภทของสินค้าและอุปกรณ์ที่มีอัตราการเติบโตที่โดดเด่นคือ อุปกรณ์อัจฉริยะ (Smart Devices) และหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (Robot and Automation) มีมูลค่ารวมของทั้งสองอุตสาหกรรมอยู่ที่ 419,989 ล้านบาท ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า อุปกรณ์อัจฉริยะเริ่มเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตของคนไทยในสังคมดิจิทัลมากขึ้น พร้อมกันนี้ยังคาดการณ์ว่า แม้มูลค่าอุตสาหกรรมปี 2566 อาจจะขยายตัวไม่มาก โดยจะอยู่ที่ 1,472,075 ล้านบาท แต่ยังมีความเป็นไปได้ที่จะเติบโตถึง 1,744,409 ล้านบาทในปี 2567 และ 2,065,381 ล้านบาท ในปี 2568

บริการด้านดิจิทัลโตแรงตอบรับเมกะเทรนด์

อุตสาหกรรมบริการดิจิทัลปี 2565 มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 281,515 ล้านบาท เติบโตขึ้นจากปี 2564 ถึง 21% โดยอุตสาหกรรมบริการดิจิทัลแบ่งออกเป็น 8 ประเภท ได้แก่ 1. ค้าปลีก (e-Retail) มีมูลค่าอุตสาหกรรม 78,290 ล้านบาท เติบโต 28% 2. ขนส่ง (e-Logistics) มีมูลค่าอุตสาหกรรม 83,472 ล้านบาท เติบโต 19% 3. ท่องเที่ยว (e-Tourism) มีมูลค่าอุตสาหกรรม 10,239 ล้านบาท เติบโต 21% 4. สื่อออนไลน์ (Online Media) มีมูลค่าอุตสาหกรรม 42,911 ล้านบาท เติบโต 19% 5. ผู้ให้บริการโฆษณาออนไลน์ (e-Advertise) มีมูลค่าอุตสาหกรรม 22,119 ล้านบาท เติบโต 7% 6. ผู้ให้บริการเทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech) มีมูลค่าอุตสาหกรรม 42,541 ล้านบาท เติบโต 22% 7. ผู้ให้บริการเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพ (Health Tech) มีมูลค่าอุตสาหกรรม 742 ล้านบาท เติบโต 65% และ 8. ผู้ให้บริการเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา (EdTech) มีมูลค่าอุตสาหกรรม 1,201 ล้านบาท เติบโตลดลง 2%

ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า อุตสาหกรรม Health Tech แม้จะยังมีมูลค่าไม่สูง แต่มีอัตราการเติบโตที่น่าสนใจ ตอบรับเมกะเทรนด์ที่ผู้คนให้ความใส่ใจในการดูแลสุขภาพของตนเองมากขึ้น ทำให้ภาพรวมของอุตสาหกรรมบริการดิจิทัลเติบโตต่อเนื่อง และคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 454,628 ล้านบาท ในปี 2568

ด้าน รศ.ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการสถาบันไอเอ็มซี กล่าวว่า การสำรวจในครั้งนี้มีการวัดมูลค่าของอุตสาหกรรมบิ๊กดาต้าและปัญญาประดิษฐ์ด้วย แต่เป็นมูลค่าที่ผสานรวมอยู่ในอุตสาหกรรมย่อยของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ และอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์ จากการคำนวณมูลค่ารายได้ของอุตสาหกรรมจำนวน 213 บริษัทพบว่า อุตสาหกรรมบิ๊กดาต้าและปัญญาประดิษฐ์ ปี 2565 มีมูลค่า 25,471 ล้านบาท เติบโต 15% การสำรวจแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ 1. ส่วนฮาร์ดแวร์ มีมูลค่า 3,648 ล้านบาท เติบโต 20% 2. ส่วนซอฟต์แวร์ มีมูลค่า 6,717 ล้านบาท เติบโต 20% 3. ส่วนงานบริการ มีมูลค่า 15,059 ล้านบาท เติบโต 12% โดยรายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดของอุตสาหกรรมดิจิทัลและธุรกิจต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นเครื่องบ่งชี้ให้เห็นว่า ทุกภาคส่วนมุ่งเน้นการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล หรือ Digital Transformation ขณะที่เทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่าง AI, IoT, Blockchain ตลอดจน Web 3.0 และ Quantum Computing จะมีส่วนกระตุ้นให้อุตสาหกรรมเติบโตยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ในงานแถลงผลสำรวจข้อมูลและประเมินสถานภาพอุตสาหกรรมดิจิทัล ประจำปี 2565 ยังมีช่วงของการเสวนาในหัวข้อ 'โอกาส ความท้าทาย และการปรับตัวของอุตสาหกรรมดิจิทัลไทย' ซึ่งผู้แทนจากสภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นทิศทางการเติบโตของอุตสาหกรรมดิจิทัลไทยว่า ควรต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้เทคโนโลยีและบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญสามารถเติบโตไปพร้อมกัน รวมทั้งการมองอนาคตถึงเมกะเทรนด์ต่าง ๆ ที่จะเข้ามามีผลต่อชีวิตประจำวันและการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม เพราะปัจจุบันการเติบโตของกำลังคนในอุตสาหกรรมดิจิทัลยังไม่สูงนัก ซึ่ง ดีป้า และพันธมิตรพร้อมที่จะผลักดันอุตสาหกรรมดิจิทัลเพื่อส่งเสริมนโยบายรัฐบาลในการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัลให้กับประเทศ และเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการประชาชน

ที่มา: เจซีแอนด์โค คอมมิวนิเคชั่นส์

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๙:๐๐ กรมอนามัย ลงพื้นที่เยียวยาผู้ประสบภัย เหตุแผ่นดินไหว
๒๘ มี.ค. ดร.ฤกขจี กาญจนพิทักษ์ ได้รับรางวัล Best Women CEO in Strategic Leadership - Healthcare
๒๘ มี.ค. ฉลองสงกรานต์และอีสเตอร์สุดชิคในเดือนเมษายนนี้ที่โรงแรม โฟร์พอยท์ส บาย เชอราตัน ภูเก็ต ป่าตอง บีช รีสอร์ท
๒๘ มี.ค. เจนเนอราลี่ ไทยแลนด์ ชวนน้องฉัตร เนรมิตความมั่นใจในคลาสสุดเอ็กซ์คลูซีฟ ส่งต่อพลัง #EmpowerHER ฉลองเดือนสตรีสากล
๒๘ มี.ค. พาราไดซ์ พาร์ค มุ่งยกระดับประสบการณ์ใหม่ที่ยิ่งใหญ่จากเดิม สู่การเป็น Health Wellness Destination เติมเต็มทุกความต้องการด้านสุขภาพและทุกไลฟ์สไตล์เพื่อชีวิตที่ดีของทุกคน
๒๘ มี.ค. เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย เยี่ยมชม เลอโนท ประเทศไทย พร้อมร่วมกิจกรรมเวิร์กช็อปสุดพิเศษ ศิลปะการทำเวียนนัวเซอรี่ มาสเตอร์คลาส กับเชฟมิกาแอล
๒๘ มี.ค. คณะการท่องเที่ยวฯ DPU จัดเวทีประชัน HT MAKEUP GRAND COMPETITION 2025 ปี 2 เพื่อเสริมสร้างทักษะด้านการแต่งหน้าเสริมบุคลิกภาพให้นักศึกษา
๒๘ มี.ค. สคล. ผนึกกำลังชุมชน รณรงค์ลด ละ เลิกเหล้า ต่อเนื่อง พุ่งเป้า ป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ มุ่งสร้างสังคมสุขภาวะ
๒๘ มี.ค. NER สานต่อโครงการ NER สนับสนุนวิถีเกษตรยั่งยืน ปี2
๒๘ มี.ค. Readyplanet โชว์ศักยภาพผู้นำด้าน MarTech และ CRM Platform ในงาน MARTECH EXPO 2025