สถาบันวิจัยมิตซูบิชิ และ โบลลิเกอร์ เสริมสร้างความร่วมมือแก้ปัญหาความท้าทายด้านสังคมสูงอายุ และการรับมือกับภาวะโลกร้อนของสังคมไทย

ศุกร์ ๒๒ กันยายน ๒๐๒๓ ๑๓:๒๕
สถาบันวิจัยมิตซูบิชิ (Mitsubishi Research Institute: MRI) และบริษัทโบลลิเกอร์ แอนด์ คอมพานี (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทที่ปรึกษาในการวิจัยด้านการค้า การลงทุน เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ได้ริเริ่มการศึกษาครั้งสำคัญในหัวข้อ "ประเด็นด้านสังคมของประเทศไทย (Thailand's Societal Issues) และโอกาสในการแสวงหาแนวทางการแก้ปัญหาร่วมกัน"

การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้เน้นย้ำความสำคัญประเด็นท้าทายด้านสังคมที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันผ่านการทำงานร่วมกัน การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การนำเสนอกลยุทธ์และโอกาสในการบริหารจัดการความท้าทายที่เกิดขึ้น รวมถึงการอภิปรายร่วมกันในประเด็นปัญหาทั้ง 6 ข้อ ประกอบด้วย 1) ความเป็นอยู่ที่ดี 2) การป้องกันภัยพิบัติและสาธารณูปโภค 3) การศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ 4) น้ำและอาหาร 5) การคมนาคมขนส่ง และ 6) พลังงานและสิ่งแวดล้อม

นางสาวเอริ ทามากวะ นักวิจัยของสถาบันวิจัยมิตซูบิชิ นำเสนอภาพความท้าทายที่ทับซ้อนกันระหว่างไทยและญี่ปุ่น โดยนำเสนอให้เห็นถึงแนวทางของญี่ปุ่นในการรับมือกับปัญหาประชากรสูงวัย อุปสรรคทางเศรษฐกิจ และประเด็นปัญหาอื่นๆ ตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ภายใต้บริบทการดำเนินดังกล่าว ญี่ปุ่นจึงเป็นประเทศที่สามารถเป็นผู้นำด้านความคิด การออกแบบนโยบาย และสร้างนวัตกรรมในการแก้ปัญหาทางสังคม

โครงการ "นวัตกรรมเพื่อสร้างอนาคตร่วมกัน"  (Initiative for Co-Creating the Future: ICF) เป็นนวัตกรรมที่สถาบันวิจัยมิตซูบิชิพัฒนาขึ้นภายใต้ความร่วมมือของภาคธุรกิจ ผู้เชี่ยวชาญ และชุมชน เพื่อจัดการกับความท้าทายด้านสังคมและด้านอื่นๆ โครงการ ICF ได้สร้างเครือข่ายสำหรับบุคคลเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมด้วยวิธีการทางธุรกิจ และเผยแพร่ผลการศึกษาเรื่อง "การแก้ปัญหาทางสังคมผ่านนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง (Resolving Societal Issues Through Innovation-Listings of Societal Issues)" เพื่อระบุและประเมินผลกระทบของประเด็นปัญหาต่างๆ ที่เกิดทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ

กระบวนการนี้ นอกเหนือไปจากการใช้เพื่อรับมือกับปัญหาความท้าทายที่เฉพาะเจาะจงของประเทศญี่ปุ่น เช่น ความท้าทายของอุปทานด้านอาหาร ปัญหาด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ยังสามารถนำไปปรับใช้กับด้านอื่นๆ ได้ตามที่เหมาะสม คุณเอริกล่าวว่า "กลยุทธ์ของ ICF แม้ถูกสร้างขึ้นด้วยบริบทเฉพาะของญี่ปุ่น แต่ก็สามารถนำไปปรับใช้และเปลี่ยนแปลงให้เข้ากับสถานการณ์ของประเทศไทยได้"

ความท้าทายของสังคมไทยในทศวรรษถัดไป

ในปัจจุบัน ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมสูงวัย โดยมีประชากรมากถึงร้อยละ 30 ที่คาดว่าจะเข้าเกณฑ์ของการเป็นผู้สูงวัยภายในปี 2579 ซึ่งจะทำให้ประเทศกลายเป็นสังคมสูงวัยสุดขั้ว (Super-aged Society) ในขณะเดียวกัน แม้ว่าประเทศไทยจะมีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่ประชาชนส่วนใหญ่ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลและมีรายได้ต่ำยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึงการรักษาพยาบาล ยา และบริการทางการแพทย์ต่างๆ

สังคมผู้สูงวัยมาพร้อมกับอายุเฉลี่ยของแรงงานที่สูงขึ้น ในขณะที่ประเทศไทยยังมีการปรับใช้เทคโนโลยีในระดับต่ำ และมีการใช้ประโยชน์จากที่ดินที่ขาดประสิทธิภาพ ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ล้วนสร้างผลกระทบเชิงลบต่อผลิตผลในภาคเกษตรกรรม นอกจากนี้ ประเทศไทยยังต้องระมัดระวังที่จะเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนอาหารและต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นในอนาคตอันใกล้

 ประเทศไทยนอกจากจะมีประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้น ยังมีอัตราการเกิดของประชากรอยู่ในจุดต่ำสุดเมื่อเทียบกับช่วง 6 ทศวรรษก่อนหน้า โดยที่อัตราการเกิดลดลงจาก 1 ล้านคน มาอยู่ที่ 500,000 ถึง 600,000 คนต่อปี อัตราการเกิดที่ลดลงนี้ทำให้ต้องมีการลงทุนเพิ่มมากขึ้นเพื่อรักษาระดับของทุนมนุษย์ให้คงเดิม การศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จะเป็นประเด็นหลักที่ต้องได้รับการปรับปรุงและพัฒนา เพื่อที่จะยกระดับขีดความสามารถของประชากรและผลิตผลของประเทศต่อไป

ภาวะโลกร้อนได้กลายมาเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมาซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบในหลายภาคส่วน ทั้งการบริหารจัดการภัยธรรมชาติ การคมนาคมขนส่ง พลังงาน และสิ่งแวดล้อม ภัยธรรมชาติที่รุนแรง เช่น ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น น้ำท่วม ภัยแล้ง ไฟป่า และพายุ ส่งผลกระทบเชิงลบที่รุนแรงต่อคนในประเทศ ความท้าทายนี้ไม่เพียงแต่ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการป้องกันและรับมือมากยิ่งขึ้น แต่ยังต้องกระตุ้นให้เกิดการเห็นพ้องของสังคมในการเตรียมพร้อมรับมือเพื่อลดความเสี่ยงที่เกิดขึ้นต่อภาคประชาชน

ปัญหาที่เชื่อมโยงกับภาวะโลกร้อนที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ได้แก่ การคมนาคมขนส่ง ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ชั้นนำมาเป็นเวลานาน และเป็นประเทศที่มีการใช้รถยนต์ส่วนตัวมากที่สุดประเทศหนึ่ง เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายใน พ.ศ. 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายใน พ.ศ. 2608 การลดจำนวนยานยนต์ประเภทสันดาปได้กลายเป็นประเด็นสำคัญเร่งด่วน อย่างไรก็ตาม ความคืบหน้าในการผลักดันยานยนต์ไฟฟ้าซึ่งเป็นทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมยังไม่คืบหน้าเท่าที่ควร เนื่องด้วยปัจจัยท้าทายต่างๆ เช่น ราคาที่เข้าถึงได้ยาก เครือข่ายสาธารณูปโภคที่ยังไม่เพียงพอ และความตระหนักรู้ของคนในสังคม ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการเตรียมพร้อมคนในสังคมเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนผ่าน และผลักดันการลงทุนในการขนส่งสาธารณะเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมโยงให้การคมนาคมขนส่งทุกรูปแบบ

 นอกเหนือจากภาคขนส่ง ภาคพลังงานเป็นภาคส่วนหลักที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของไทย และเป็นภาคส่วนที่ถูกเร่งผลักดันให้ลดการสร้างมลภาวะทางสิ่งแวดล้อม ประเทศไทยมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเปลี่ยนผ่านสถานะการใช้พลังงานให้สะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมถึงมีความมั่นคงทางพลังงานและการบริหารจัดการการใช้พลังงานที่เหมาะสม อันจะนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านที่มีประสิทธิภาพต่อไป

นายเคนนิชิโร่ ยามากูชิ นักวิจัยของสถาบันวิจัยมิตซูบิชิ ได้เน้นย้ำถึงความรับผิดชอบร่วมกันในการแก้ไขวิกฤติสภาพอากาศ โดยกล่าวว่า "ไม่ใช่เพียงแต่ภาคอุตสาหกรรมที่ต้องเปลี่ยนแปลง พวกเราทุกคนตั้งแต่ในระดับบุคคลไปจนถึงธุรกิจขนาดใหญ่ต้องมีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้"  ในระยะยาว องค์กรต่างๆ จำเป็นต้องปรับตัว โดยเริ่มต้นจากการปรับปรุงกระบวนการทำงานภายในองค์กร อย่างไรก็ตาม องค์กรอาจมีความยากลำบากในการระบุความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังนั้น เครื่องมือต่างๆ เช่น การเปิดเผยข้อมูลภายใต้กรอบ TCFD จะช่วยให้บุคคลและองค์กรต่างๆ เข้าใจบริบทภายในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในขณะเดียวกัน ยังเป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อให้องค์กรตระหนักถึงโอกาสในการเติบโตและขอบเขตที่ปรับปรุงพัฒนาได้ อันจะนำไปสู่แนวปฏิบัติที่ยั่งยืนต่อไป

ดร. ลิม โพ ซุน ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจโลก สถาบันวิจัยมิตซูบิชิได้เน้นย้ำว่านับจากในอดีตจนถึงปัจจุบัน ความสัมพันธ์ของไทยและญี่ปุ่นอยู่ในลักษณะของความสัมพันธ์ทางเดียว กล่าวคือ "จากญี่ปุ่นถึงไทย" แต่นับจากนี้ เขาคาดหวังที่จะเห็นความสัมพันธ์เชิงแลกเปลี่ยนในลักษณะของการร่วมมือกัน และเชื่อว่าการประชุมเชิงปฏิบัติการในวันนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการดังกล่าว โดยนายโซอิชิ นาคาจิม่า หนึ่งในตัวแทนสถาบันวิจัยมิตซูบิชิ ได้นำเสนอรูปแบบของความร่วมมือระหว่างไทยและญี่ปุ่นผ่านกรณีศึกษาต่างๆ เพื่อสะท้อนให้เห็นภาพความเป็นไปได้ที่อาจเกิดขึ้น

ดร. รัชดา เจียสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โบลลิเกอร์ แอนด์ คอมพานี (ประเทศไทย) บริษัทที่ปรึกษาที่ให้บริการแก่หน่วยงานภาครัฐ ที่มีประสบการณ์ยาวนาวกว่า 10 ปี ด้วยความเชี่ยวชาญในการวิจัยด้านการค้า การลงทุน เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม   สรุปใจความสำคัญที่ได้จากการประชุมเชิงปฏิบัติการโดยเน้นย้ำถึงโอกาสที่มาจากการหารือร่วมกันว่า "กิจกรรมนี้ไม่ได้เพียงแต่ช่วยประมวลความท้าทายที่เรากำลังเผชิญอยู่ให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น แต่ช่วยนำเสนอรูปแบบที่ภาคธุรกิจสามารถเข้ามาเป็นผู้แก้ปัญหาได้" นอกจากนี้ ยังได้ข้อสรุปว่าว่าการแก้ปัญหาจะเกิดผลดียิ่งขึ้นหากรัฐบาลให้ความร่วมมือกับหน่วยงานภาคเอกชน แทนที่จะดำเนินการด้วยตัวเองเพียงฝ่ายเดียว การร่วมมือกันไม่เพียงแต่จะช่วยสร้างตลาดและพัฒนาระบบนิเวศให้ผู้ประกอบการ แต่ยังช่วยให้ภาครัฐสามารถบรรลุเป้าหมายแห่งความยั่งยืนได้พร้อมๆ กัน

การประชุมเชิงปฏิบัติการนี้เป็นมากกว่าการสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แต่เป็นสัญลักษณ์ของความหวัง ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และความร่วมมือ อีกทั้งยังเป็นหลักฐานของการดำเนินการร่วมกันบนพื้นฐานของการพัฒนาความเชี่ยวชาญ และนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์ เพื่อนำประเทศไปสู่จุดหมายที่มั่นคงและยั่งยืนต่อไป

ที่มา: ออล อะเบาท์ พีอาร์

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version