การจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติ The 7th ICSEHH มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทและอิทธิพลของแร่ธาตุซีลีเนียมในระบบชีวภาพ แนวทางการวิจัยที่หลากหลาย และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพของมนุษย์และสัตว์ เป็นเวทีสำคัญที่เปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญ นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย อาจารย์ และนักศึกษา ได้มีส่วนร่วมในการแบ่งปันองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญ พร้อมนำเสนอผลงานวิจัยล่าสุด แลกเปลี่ยนแนวคิดการวิจัย และสร้างเครือข่ายเพื่อเริ่มโครงการวิจัยร่วมกันในอนาคต โดยการประชุมในครั้งนี้มีวิทยากรและผู้เข้าร่วมประชุม 120 คน จากประเทศไทย จีน เกาหลี บราซิล เบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์ อิตาลี สวิสเซอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา
นอกจากการประชุมวิชาการดังกล่าวแล้ว วว. ได้จัดพิธีการลงนามบันทึกความเข้าใจด้านการเกษตรเชิงหน้าที่ จำนวน 2 ฉบับ ดังนี้
ฉบับที่ 1 จัดทำขึ้นระหว่าง วว. บริษัท Suzhou Setek Co., Ltd., สถาบัน Nanjing Institute for Functional Agriculture Science and Technology (iFAST) โดยมี ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต Dr. Zhangmin Wang, Vice President of SETEK และ Dr. Xuebin Yin, Director and Researcher of iFAST เป็นผู้แทนลงนาม
ฉบับที่ 2 จัดทำขึ้นระหว่าง วว. และ Anhui Science and Technology University (AHSTU) โดยมี ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต และ Dr. Xuebin Yin, Dean of Institute of Functional Agriculture (Food) Science and Technology at Yangtze River Delta, AHSTU เป็นผู้แทนลงนาม
อนึ่ง จากความร่วมมือด้านการเกษตรเชิงหน้าที่กับหน่วยงานจีน วว. โดย ศนก. ได้วิจัยและพัฒนาเพื่อศึกษาการแตกกระจายของซีลีเนียมในดิน และผลิตพืชเสริมซีลีเนียมด้วยเทคโนโลยี Agronomic Biofortification ได้แก่ ข้าวขาวดอกมะลิ 105 กล้วยหอมทอง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และนำส่วนเหลือทิ้ง เช่น ฟางข้าว ต้น ใบ เปลือกข้าวโพด ไปทดลองเพาะเห็ดนางฟ้าและผลิตปุ๋ยอินทรีย์ โดย วว. นำองค์ความรู้และผลงานการวิจัย วว. ไปถ่ายทอดให้กับเกษตรกรไทย เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าเกษตร ช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกร เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดการค้า เพิ่ม GDP ให้กับประเทศไทย ตอบรับโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจ Bio-Circular-Green (BCG) Economy Model และสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ดังนี้
ข้อ 2 ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหารและยกระดับโภชนาการและส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน
ข้อ 9 สร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีความทนทาน ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมและยั่งยืนและส่งเสริมนวัตกรรม
ข้อ 12 สร้างหลักประกันให้มีรูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
ข้อ 17 เสริมความเข้มแข็งให้แก่กลไกการดำเนินงานและฟื้นฟูหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
ทั้งนี้ วว. โดย ศนก. มีความเชี่ยวชาญในการนำซีลีเนียมซึ่งเป็นแร่ธาตุที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ เช่นเดียวกับ วิตามินซี วิตามินอี หรือวิตามินเอ ทำหน้าที่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่งร่างกายต้องการซีลีเนียมทุกวันในปริมาณน้อยๆ แต่ขาดไม่ได้ หากขาดจะทำให้ติดเชื้อได้ง่ายขึ้นเข้ามาใช้ในการเกษตรกรรม อาทิ การผลิตข้าวเสริมซีลีเนียม ที่มีส่วนช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย และการผลิตปุ๋ยอินทรีย์เคมีเสริมซีลีเนียม เพื่อช่วยเพิ่มผลิตภัณฑ์ทางเลือกสุขภาพที่ปลอดภัย ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่าย ภายใต้การดำเนินโครงการยกระดับเศรษฐกิจในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลางตะวันตกด้วย BCG โมเดล เป็นต้น
ที่มา: สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย