นอกจากนี้ สำนักงานเขตฯ ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจนครบาล (สน.) ปทุมวัน และเจ้าหน้าที่ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งกรุงเทพ เพื่อบูรณาการความร่วมมือบริหารจัดการแก้ไขปัญหาขอทานต่างด้าวในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณแยกมหานคร แยกหัวลำโพง ถนนพระรามที่ 4 รวมถึงบริเวณสถานี MRT หัวลำโพง พบบุคคลเร่ร่อน จึงได้ประชาสัมพันธ์ไม่ให้นอนในที่สาธารณะ กรณียังพบบุคคลมีปัญหาทางจิตเร่ร่อนนอนในที่สาธารณะ สำนักงานเขตฯ ได้นำบุคคลดังกล่าวเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ทั้งนี้ หากประชาชนพบเห็นบุคคลไร้ที่พึ่ง สามารถแจ้งปัญหาบุคคลไร้ที่พึ่งเร่ร่อนในที่สาธารณะได้ที่ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน 1300 กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ
นายแสนยากร อุ่นมีศรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม (สพส.) กทม.กล่าวว่า สพส.ได้บูรณาการความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดระเบียบคนเร่ร่อนและผู้ทำการขอทานในพื้นที่สาธารณะของ กทม.มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เช่น สำนักงานเขต สำนักเทศกิจ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กรมสุขภาพจิต สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ สถานีตำรวจนครบาล (สน) และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย มูลนิธิกระจกเงา และมูลนิธิอิสรชน โดยให้ความช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนขอทาน (คนไทย/คนต่างด้าว) ด้วยการจัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่จัดระเบียบในพื้นที่ที่มีผู้ทำการขอทาน เช่น ย่านธุรกิจ ใกล้ห้างสรรพสินค้า ตลาด แหล่งชุมชน และบริเวณสถานีรถไฟฟ้า MRT สถานีหัวลำโพง และถนนมหาพฤฒาราม ได้สำรวจ คัดกรอง จัดทำประวัติ ให้คำปรึกษา แนะนำ ทำความเข้าใจกับผู้ที่เข้ามาพักอาศัยหลับนอน หรือใช้พื้นที่สาธารณะ เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ ซึ่งส่งผลกระทบทำให้ผู้อื่นได้รับความเดือดร้อน โดยอำนาจหน้าที่การดำเนินการด้านคนขอทานเป็นของพนักงานเจ้าหน้าที่ในสังกัด พม. ส่วน กทม.ในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมการขอทาน พ.ศ.2559 หากพบผู้ทำการขอทานต่างด้าวในเขตพื้นที่จะนำส่งผู้ทำการขอทานดังกล่าว ให้ สน.ในพื้นที่ เพื่อสอบสวน บันทึกการจับกุม เปรียบเทียบปรับตาม พ.ร.บ.ควบคุมการขอทานฯ และส่งไปสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เพื่อผลักดันกลับประเทศต้นทางต่อไป
ส่วนการแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือคนเร่ร่อน กทม.ได้จัดระเบียบให้คนเร่ร่อนเข้าถึงสิทธิ สวัสดิการ รวมถึงการคุ้มครองสวัสดิภาพ นอกจากนี้ ได้ลงพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกวดขันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบริเวณสถานีรถไฟฟ้า MRT สถานีหัวลำโพง ถนนมหาพฤฒาราม และบริเวณใกล้เคียงอื่น ๆ เพื่อให้คำปรึกษาแนะนำ สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความผิดตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 กรณีสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนที่สัญจรไป-มา หรือสร้างความไม่สะอาดในพื้นที่ รวมถึงการใช้พื้นที่สาธารณะเป็นที่พักอาศัยหลับนอน ขณะเดียวกันยังได้เปิดพื้นที่สวัสดิการ "จุดบริการสวัสดิการสังคม (drop in)" ในพื้นที่เขตพระนคร 2 แห่งคือ บริเวณใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าและบริเวณตรอกสาเก โดยจัดเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษา ส่งเสริมสนับสนุนในด้านต่าง ๆ การคัดกรอง จัดเก็บข้อมูล เพื่อติดตามการช่วยเหลือ การให้เข้าถึงสิทธิสวัสดิการ อาทิ การทำบัตรประจำตัวประชาชน การรักษาพยาบาล การส่งเสริมอาชีพ การจัดหางาน บริการห้องสุขา ห้องอาบน้ำ บริการรับบริจาคแจกอาหาร และการมีที่พักอาศัย รวมถึงส่งกลับคืนสู่ครอบครัว
ที่มา: กรุงเทพมหานคร