ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 โซเด็กซ์โซ่ ประเทศไทย ได้เริ่มทำโครงการลดขยะอาหารอย่างจริงจังด้วยการเปิดตัวโครงการ "WasteWatch" เพื่อตั้งเป้าลดปริมาณขยะอาหารอย่างยั่งยืน โดยทำงานร่วมกันกับ Leanpath กลุ่มธุรกิจที่ได้มาตรฐานสูงสุดในการบริหารจัดการด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมระดับโลก ที่มีการประมวลการทำงานผ่านเทคโนโลยีและแอปพลิเคชันที่ทันสมัย และเข้าไปช่วยบริหารจัดการให้กับกลุ่มลูกค้าของโซเด็กซ์โซ่ในหน่วยงานเอกชน สถานพยาบาล และโรงเรียนนานาชาติชั้นนำหลายแห่ง
ด้วยความมุ่งมั่นในการบรรลุเป้าหมาย โซเด็กซ์โซ่ ไม่เพียงแต่ทำปฏิบัติภายในองค์กรเท่านั้น แต่ยังมี แนวทางปฏิบัติร่วมกับทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง อาทิ บุคลากรในองค์กร คู่ค้า และลูกค้า เพื่อให้สามารถผลักดันให้มีการลดขยะอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
ทั้งนี้ โซเด็กซ์โซ่ ให้ความสำคัญเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการสั่งซื้อ การขนส่ง การจัดเก็บ การเตรียมการ และการให้บริการ เพื่อช่วยลดขยะทุกประเภทให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะขั้นตอนในการเตรียมอาหาร เชฟและผู้ช่วยเชฟทุกคนจะจัดการใช้วัตถุดิบทุกประเภทอย่างคุ้มค่า เพื่อให้ทุกเมนูที่ถูกปรุงออกไปไม่สร้างปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อมเพิ่มยิ่งขึ้น
โซเด็กซ์โซ่ ประเทศไทย มีเชฟผู้เชี่ยวชาญที่ร่วมกันผลักดันนโยบายนี้อย่างเคร่งครัด อาทิ เชฟธนัย มั่นการโชค National Executive Chef, เชฟวิทวัฒ เย็นวัฒนา Executive Chef ประจำอยู่โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท, เชฟชัย สืบเพ็ง Executive Chef ประจำอยู่โรงเรียนนานาชาติคอนคอร์เดียน และ เชฟจุฬนี ชาญสมจิตร Executive Chef ประจำอยู่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์อินเตอร์เนชันแนล
และเพื่อเป็นการรณรงค์เนื่องในวันแห่งการตระหนักรู้สากลเรื่องการสูญเสียอาหารและขยะอาหาร (International Day of Awareness of Food Loss and Waste) ในวันที่ 29 กันยายนที่ผ่านมา และสัปดาห์แห่งการลดขยะอาหารของโซเด็กซ์โซ่ทั่วโลก (WasteLESS Week) ในเดือนตุลาคมนี้ โซเด็กซ์โซ่ จึงได้จัดกิจกรรมเพื่อเป็นการเน้นย้ำให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการลดขยะอาหารตามเป้าหมายที่กำหนดไว้คือการลดขยะอาหารลง 50% ภายในปี 2568
โดยภายในองค์กร ผู้บริหารและพนักงานได้ร่วมมือกันลดการใช้พลาสติกด้วยการใช้กระบอกน้ำหรือแก้วน้ำส่วนตัวแทนแก้วและหลอดพลาสติก รวมถึงถุงผ้า ลดการใช้พลังงานช่วงพักเบรก ด้วยการปิดไฟฟ้า ปิดแอร์ ปิดหน้าจอคอมฯ ลดปริมาณขยะอาหาร ด้วยการตัดแต่งเนื้อสัตว์ ผัก และผลไม้ ให้เหลือเป็นขยะน้อยที่สุด และการใช้วัสดุแบบอัปไซเคิลหรือรีไซเคิล ด้วยการดัดแปลงเพื่อใช้ซ้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ที่มา: อินสไปร์ คอมมิวนิเคชั่นส์