รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมส่งเสริมการเกษตรจึงแนะนำให้พี่น้องเกษตรกรชาวสวนลำไย โดยเฉพาะผู้ผลิตลำไยนอกฤดูในภาคตะวันออกที่ใกล้เข้าสู่ฤดูเก็บเกี่ยวในเดือนตุลาคมนี้ หมั่นสำรวจสวนอย่างสม่ำเสมอเพื่อรักษาผลผลิตให้มีคุณภาพ และให้เฝ้าระวังเพลี้ยแป้ง ซึ่งเป็นศัตรูพืชสำคัญในลำไยเพื่อไม่ให้กระทบต่อความเชื่อมั่นของตลาด โดยเกษตรกรสามารถสังเกตลักษณะการทำลายของเพลี้ยแป้งลำไยได้บริเวณใบ ยอดอ่อน ช่อดอก และผล ตั้งแต่ระยะแทงตาดอกไปจนถึงผลแก่ ซึ่งเพลี้ยแป้งมักอาศัยดูดกินน้ำเลี้ยงในบริเวณส่วนต่าง ๆ ดังกล่าว โดยมีมดเป็นพาหะช่วยเคลื่อนย้ายไปและทำให้การระบาดรุนแรงมากขึ้นได้ ทั้งนี้ หากระบาดรุนแรงจะทำให้บริเวณที่ถูกทำลายเหี่ยวแห้ง และเพลี้ยแป้งจะขับถ่ายมูลหวานซึ่งเป็นแหล่งอาหารของราดำ ทำให้ราดำเจริญเติบโตปกคลุมส่งผลให้ลำไยเสียคุณภาพ
สำหรับ การควบคุมและป้องกันกำจัด เกษตรกรควรหมั่นสำรวจแปลงทุก 7 วัน พร้อมกับกำจัดมด โดยใช้ผ้าชุบน้ำมันเครื่องที่ใช้แล้ว หรือชุบสารกำจัดแมลง ได้แก่ มาลาไทออน 83% EC อัตรา 20 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือคาร์บาริล 85% WP อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร พันไว้ที่โคนต้นและวัสดุค้ำยันต่าง ๆ และหากพบรังมดในแปลงปลูก ควรใช้เหยื่อพิษกำจัดมดโดยเร็ว รวมทั้งกำจัดวัชพืชในแปลงปลูกด้วย โดยเฉพาะแห้วหมูและหญ้าคาเนื่องจากเป็นพืชอาศัยของเพลี้ยแป้ง โดยให้ถอนต้นและขุดเหง้าที่อยู่ในดินออก หรือใช้สารฮาโลซัลฟูรอน-เมทิล 75% WG พ่นระหว่างแถว ในกรณีที่เริ่มพบการระบาดของเพลี้ยแป้งเล็กน้อย ให้ตัดส่วนที่พบไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก ใช้น้ำฉีดพ่นให้เพลี้ยแป้งหลุดออกไป หรือใช้ ไวท์ออยล์ หรือปิโตรเลียม ออยล์ อัตรา 20 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นในบริเวณที่พบการระบาด กรณีการระบาดรุนแรง ให้พ่นสารกำจัดแมลง ได้แก่ ไทอะมีทอกแซม 25% WG อัตรา 2.5 กรัม หรือไดโนทีฟูแรน 10% WP อัตรา 10 กรัม หรือมาลาไทออน 57% EC + ปิโตรเลียม ออยล์ 83.9% EC อัตรา 40 มิลลิลิตร อย่างใดอย่างหนึ่งผสมน้ำ 20 ลิตร แล้วพ่นสารอย่างน้อย 2 ครั้ง โดยเว้นระยะห่างกัน 7 วัน
ที่มา: กรมส่งเสริมการเกษตร