นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 ที่ผ่านมาว่ารัฐบาลจะส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ อาทิ การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล อุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง อุตสาหกรรมสีเขียว และอุตสาหกรรมความมั่นคงของประเทศ รวมทั้ง การวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในประเทศ เพื่อให้เป็นเครื่องยนต์ใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และยกระดับศักยภาพการแข่งขันของประเทศ รวมไปถึงการพัฒนาต่อยอดเขตเศรษฐกิจพิเศษ และระเบียงเศรษฐกิจทั้ง 4 ภาค ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตลอดจนการพัฒนาพื้นที่และเมือง ให้เป็นไปตามผังเมืองที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน เพื่อให้เกิดการกระจายความเจริญและกิจกรรม ทางเศรษฐกิจไปสู่ภูมิภาค รัฐบาลจะไม่ละเลยเรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ โดยจะสานต่อนโยบาย Carbon Neutrality เพื่อให้ประเทศไทยเป็นผู้นำของอาเซียนในด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การพัฒนาที่ยั่งยืนจะเปิดประตูบานใหญ่สู่การค้าโลก ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญของประเทศไทย
"กระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีการปฏิรูปการทำงาน เพื่อก้าวสู่ Eco Industrial for Carbon Neutrality โดยมุ่งยกระดับ "อุตสาหกรรมดี อยู่คู่กับชุมชนอย่างยั่งยืน" โดยวางกรอบการดำเนินงานไว้ 4 มิติ คือ มิติที่ 1 ความสำเร็จทางธุรกิจ มิติที่ 2 การดูแลชุมชนโดยรอบโรงงานอุตสาหกรรม มิติที่ 3 การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม สู่อุตสาหกรรมสีเขียว มิติที่ 4 การกระจายรายได้ให้แก่ประชาชน และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยจะส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การวางระบบดูแล ควบคุม และกำจัดของเสียในภาคอุตสาหกรรมที่ไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชน การใช้พลังงานทางเลือก มุ่งสู่เศรษฐกิจชีวภาพ และเศรษฐกิจหมุนเวียน (Bio Circular Economy) เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดต้นแบบอุตสาหกรรมคาร์บอนเป็นศูนย์ (Zero Carbon Industry) ในลำดับต่อไป"
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่าการจัดงานครั้งนี้เป็นผลมาจากสถานการณ์สิ่งแวดล้อมโลกที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะขยะและกากของเสียที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี จากรายงานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) พบว่าในปี 2560 ประเทศไทยมีปริมาณขยะประมาณ 27 ล้านตันหรือประมาณ 74,998 ตัน/วัน โดยเฉพาะขยะภาคอุตสาหกรรมมีมากถึง 33 ตัน/ปี ที่เป็นอันตรายและไม่มีการกำจัดอย่างถูกวิธี ทั้งยังมีการทิ้งโดย ผิดกฎหมาย จึงควรมีวิธีการจัดการขยะอย่างถูกวิธีเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ด้วยการเพิ่มจำนวน ผู้ให้บริการกำจัดขยะและนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาประยุกต์ใช้
"สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มีนโยบายเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ ผ่านการดำเนินงานของกลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นกลุ่มสนับสนุนความยั่งยืนของอุตสาหกรรมไทยในภาพรวม และเราพร้อมเดินหน้านำนวัตกรรม เทคโนโลยีที่ทันสมัยมาประยุกต์ใช้ ในการกำจัดขยะ ของเสีย เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน" นายเกรียงไกร กล่าว
นอกจากนี้ นายเกรียงไกร ยังกล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับ "การร่วมขับเคลื่อนสู่โลกที่ดีกว่า" ซึ่งเป็นธีมในการจัดงานครั้งนี้ว่า มีองค์ประกอบด้วยกัน 3 ส่วน ได้แก่ 1. ต้นทาง ซึ่งเป็นผู้กำเนิดมลพิษและขยะ 2. ระหว่างทาง ซึ่งจะต้องอาศัยนโยบายของภาครัฐในการเข้ามากำกับดูแลเพื่อให้มีการแก้ไขปัญหาอย่างถูกวิธี อันนำไปสู่การสร้างสิ่งแวดล้อมที่สมดุลและยั่งยืน 3. ปลายทาง ซึ่งเป็นผู้ที่จะช่วยลด บำบัด กำจัดมลพิษและขยะ โดยนำเครื่องมือเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการ โดยคำนึงถึงความคุ้มค่าการลงทุนและการคืนกำไรสู่สังคม
ด้าน นายธีระพล ติรวศิน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานการจัดงานกล่าวว่า ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่กลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม ส.อ.ท. จัดงานขึ้น ภายใต้การสนับสนุนจากหน่วยงานที่กำกับดูแลสิ่งแวดล้อม อาทิ กรมโรงงานอุตสาหกรรม การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรมควบคุมมลพิษ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ รวมไปถึงภาคเอกชน ได้แก่ SCG, AMATA Facility และสมาคมวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย
งานนี้ ถือเป็นการฉลองครบรอบ 20 ปีของกลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม ส.อ.ท. ที่ได้สนับสนุนการจัดการสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย โดยไม่ได้คำนึงถึงผลกำไร รวมไปถึงการมุ่งเน้นนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้ในการจัดการมลพิษและของเสียที่เกิดจากทุกภาคส่วน ตั้งแต่ภาคอุตสาหกรรม ชุมชน สังคม ไปจนถึงภาคครัวเรือน
"สำหรับงาน EnwastExpo2023 เราจะสนับสนุนให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อมและการจัดการของเสียอย่างเต็มรูปแบบและครบวงจร มีการเจรจาจับคู่ธุรกิจ มีการสัมมนานำเสนอองค์ความรู้ใหม่ให้ทันกับสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมโลกที่เปลี่ยนไป ตลอดจนการนำเสนอเทคโนโลยีการสื่อสารและกฎหมายใหม่ ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย สิ่งเหล่านี้ทั้งหมดเราจะนำมาไว้ในงานนี้เพื่อเป็นแหล่งรวมให้กับผู้สนใจที่เกี่ยวข้องธุรกิจด้านนี้โดยเฉพาะ" นายธีระพล กล่าวเสริม
สำหรับกิจกรรมภายในงานจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก ประกอบด้วย 1.การจัดการแสดงเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ๆ ด้านสิ่งแวดล้อมและการจัดการของเสีย พร้อมโชว์เทคโนโลยีนวัตกรรม รีไซเคิลต้นแบบ 2.การจัดเสวนาด้านสิ่งแวดล้อม เช่น หัวข้อ "การจัดการด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย" และการบรรยายพิเศษในหัวข้อ "กฎหมายว่าด้วยโรงงานและกฎหมายลูกที่ออกปี 2566 สำหรับผู้ก่อกำเนินกากอุตสาหกรรม และ 3. การจับคู่ทางธุรกิจ ระหว่างผู้ผลิตและจำหน่ายเทคโนโลยี ผู้ก่อกำเนิดกากของเสียการจัดการมลพิษจากต้นทางและผู้รับการบำบัด กำจัดและรีไซเคิลกากของเสียและมลพิษประเภทต่างๆ
ภายในงาน นอกจากจะมีเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่ให้การสนับสนุนทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมแล้ว ยังมีผู้บริหารโรงงานอุตสาหกรรมขนาดกลาง-ใหญ่กว่า 40,000 โรงงาน เจ้าหน้าที่และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกว่า 10,000 แห่งทั่วประเทศ ตลอดจนนักวิชาการ นักศึกษาและประชาชนทั่วไป โดยคาดว่าจะมีผู้เยี่ยมชมงานแต่ละวันไม่ต่ำกว่า 10,000 คน นอกจากนี้ จะมีการเจรจาจับคู่ธุรกิจมากกว่า 300 คู่ มีการสัมมนาและเวิร์คช้อปอีกมากกว่า 20 หัวข้อ และมีบริษัทด้านสิ่งแวดล้อม/แบรนด์ดังเข้าร่วมจัดแสดงสินค้านวัตกรรมมากกว่า 100 บริษัท รวมทั้งการแสดงมินิคอนเสิร์ตจากศิลปินชื่อดังตลอดทุกวัน
สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถเข้าร่วมงาน EnwastExpo2023 ได้ตั้งแต่วันที่ 4-6 ตุลาคม 2566 นี้ ณ อาคาร 6 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็คเมืองทองธานี
ที่มา: สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย