เอสเต ลอเดอร์ คอมพานีส์ มุ่งหน้าสานต่อพันธกิจขจัดมะเร็งเต้านมให้หมดไปจากโลก ตามความตั้งใจของแคมเปญกระตุ้นเตือนภัยมะเร็งเต้านม หรือ Breast Cancer Campaign ผ่านการจับมือสถาบันมะเร็งแห่งชาติ และกรุงเทพมหานคร เปิดโครงการรณรงค์ตรวจคัดกรองมะเร็งสตรีเชิงรุกเพื่อผู้หญิงไทยวัยทำงาน โดยจะลงพื้นที่ส่งมอบความรู้พื้นฐานด้านโรคมะเร็งเต้านมและการตรวจคัดกรองด้วยตนเอง รวมไปถึงการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมโดยเจ้าหน้าที่ให้กับหญิงไทยวัยทำงานอายุ 40 ปีขึ้นไป รวมกว่า 1,500 ชีวิต โดยจะให้บริการตั้งแต่วันที่ 30 - 31 ตุลาคม และช่วงเดือนพฤศจิกายน 2566 เพื่อคัดกรองผู้มีภาวะเสี่ยงสูงเพื่อทำการตรวจค้นหามะเร็งเต้านมด้วยวิธีแมมโมแกรมรวม 240 ราย นอกจากนี้จะขยายโอกาสการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกให้กับสตรีอายุ 30 ปีขึ้นไปด้วย
ทิพาภรณ์ อูนากูล กรรมการผู้จัดการทั่วไป เอสเต ลอเดอร์ คอมพานีส์ ประเทศไทย เผยว่า "กว่า 30 ปี และนับเป็นปีที่ 20 สำหรับในประเทศไทย เอสเต ลอเดอร์ คอมพานีส์ ได้ดำเนินแคมเปญกระตุ้นเตือนภัยมะเร็งเต้านม อันมีจุดมุ่งหมายในการรณรงค์ให้ผู้หญิงทั่วทุกมุมโลกตระหนักถึงภัยของโรคมะเร็งเต้านม ทั้งยังส่งมอบโอกาสให้ผู้หญิงไทยวัยทำงานให้ได้ตรวจคัดกรองโรคดังกล่าว เราได้มีการจับมือกับสถาบันมะเร็งแห่งชาติเพื่อส่งเสริมบริการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมให้กับผู้ขาดโอกาสตามพื้นที่ต่าง ๆ ให้ได้รับการตรวจโดยไม่มีค่าใช้จ่าย และกระตุ้นเตือนถึงภัยมะเร็งเต้านมแบบเชิงรุก"
"และในโอกาสนี้ เราได้ทำความร่วมมือกับสถาบันมะเร็งแห่งชาติ รวมถึงกรุงเทพมหานคร จัดโครงการรณรงค์ตรวจคัดกรองมะเร็งสตรีเชิงรุกเพื่อผู้หญิงไทยวัยทำงาน ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้ผ่านการบรรยายในหัวข้อ "ความรู้เกี่ยวกับมะเร็งเต้านมและการคัดกรอง" ทั้งยังมอบโอกาสในการตรวจคัดกรองมะเร็ง เต้านมและมะเร็งปากมดลูกโดยบุคลากรทางการแพทย์ และตรวจคัดกรองแมมโมแกรมให้พนักงานโรงงาน เพศหญิง โดยการตรวจคัดกรองจะจัดขึ้นในช่วงปลายเดือนตุลาคม - เดือนพฤศจิกายน และจะรองรับจำนวน ผู้เข้ารับบริการที่เป็นเคสเสี่ยงสูงวันละ 40 คน ตลอด 6 วัน รวมทั้งสิ้น 240 คน โดยแบ่งกลุ่มเป้าหมายเป็น สองประเภท ได้แก่ 1) สตรีกลุ่มเสี่ยงอายุ 30 ปีขึ้นไป ให้ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยตนเอง (HPV Self-Sampling) หรือตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกโดยบุคลากรทางการแพทย์บนรถคัดกรองมะเร็งสตรี 2) สตรีกลุ่มเสี่ยงอายุ 40 ปีขึ้นไป (และสตรีอายุ 35 ปีขึ้นไป ที่มีญาติสายตรงฝั่งมารดาเป็นมะเร็งเต้านม) ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม โดยผู้ที่มีผลตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมโดยบุคลากรทางการแพทย์ (CBE) ผิดปกติ จะต้องติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อนัดหมายการตรวจ Mammogram & Ultrasound"
ด้าน ว่าที่ ร.ต.ท.หญิง พญ.นภา ศิริวิวัฒนากุล ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า "ปี 2565 สถาบันมะเร็งแห่งชาติพบว่าหญิงไทยป่วยเป็นมะเร็งเต้านมมากที่สุด ซึ่งสูงถึงกว่า 20,000 ราย และที่น่าเป็นห่วงไม่แพ้กันคือหญิงไทยกว่า 5,422 ราย ป่วยเป็นมะเร็งปากมดลูก อันมีสาเหตุจากเชื้อไวรัสชนิดฮิวแมนแปปปิโลมาไวรัส (Human Papillomavirus) หรือเอชพีวี (HPV) ที่มักจะติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งหากปล่อยให้มะเร็งทั้งสองชนิดนี้ลุกลาม จะทำให้เสี่ยงต่อการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้ การตรวจคัดกรองมะเร็ง ให้พบในระยะเริ่มต้น จะช่วยให้ได้รับการรักษาที่ทันท่วงที ดังนั้นการผลักดันให้ประชาชนเข้าถึงการตรวจคัดกรองจึงเป็นสิ่งสำคัญ"
"ในการนี้ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ต้องขอขอบคุณ เอสเต ลอเดอร์ คอมพานีส์ และกรุงเทพมหานคร ที่ร่วมกันผลักดันให้เกิดโครงการรณรงค์ตรวจคัดกรองมะเร็งสตรีเชิงรุกเพื่อผู้หญิงไทยวัยทำงาน ขอขอบคุณ เอสเต ลอเดอร์ คอมพานีส์ ที่ช่วยทั้งในด้านของการสนับสนุนค่าใช้จ่าย การประชาสัมพันธ์โครงการ ให้เป็นที่รับรู้ในวงกว้าง ทำให้สถาบันมะเร็งแห่งชาติได้ส่งมอบความรู้และโอกาสในการตรวจคัดกรองมะเร็ง ให้หญิงกลุ่มเสี่ยง ซึ่งโอกาสการเข้าถึงบริการค่อนข้างยาก อีกทั้งยังร่วมเป็นวิทยากรในงานเสวนาหัวข้อ "ทิศทางการส่งเสริมสุขภาพสตรีวัยทำงานด้วยบริการคัดกรองมะเร็งสตรีเชิงรุกในเขตกรุงเทพมหานคร" ซึ่งกิจกรรมในครั้งนี้น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการส่งเสริมสุขภาวะที่ดี และลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งให้กับผู้หญิงไทย"
นอกจากนี้ ทุกคนยังสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนพันธกิจขจัดมะเร็งเต้านมให้หมดไปจากโลกกับโครงการกระตุ้นเตือนภัยมะเร็งเต้านมภายใต้การดำเนินงานของ เอสเต ลอเดอร์ คอมพานีส์ ด้วยการสนับสนุนผลิตภัณฑ์สีชมพู ซึ่งรายได้จากการจำหน่ายจะมอบให้สถาบันมะเร็งแห่งชาติเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และสตรีกลุ่มเปราะบางในประเทศไทย
ที่มา: โอกิลวี่