อินเตอร์เนชั่นแนล เอสโอเอส ร่วมรณรงค์ส่งเสริมสุขภาพจิตทีดีในที่ทำงาน เนื่องในวันสุขภาพจิตโลก

พุธ ๑๑ ตุลาคม ๒๐๒๓ ๑๐:๕๕
เนื่องในวันสุขภาพจิตโลก (World Mental Health Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 10 ตุลาคมของทุกปี อินเตอร์เนชั่นแนล เอสโอเอส (International SOS) บริษัทผู้ให้บริการความช่วยเหลือด้านสุขภาพและความมั่นคงปลอดภัยชั้นนำของโลก ร่วมรณรงค์เรียกร้องให้องค์กรต่าง ๆ ตระหนักถึงความสำคัญที่เพิ่มขึ้นของการมีสุขภาพจิตที่ดีสำหรับพนักงานทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่เกิดวิกฤตรอบด้าน (polycrisis) และวิกฤตซ้อนวิกฤต (permacrisis) จึงทำให้ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสุขภาพจิตของพนักงานอันเนื่องมาจากความท้าทายเหล่านี้กลายเป็นเรื่องที่สำคัญมากกว่าที่เคยเป็นมา โรคระบาดครั้งใหญ่ที่แพร่กระจายไปทั่วโลก วิกฤตค่าครองชีพ ความท้าทายทางภูมิรัฐศาสตร์ และการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในสถานที่ทำงานปัจจุบันสร้างแรงกดดันต่อบุคลากรและองค์กรทั่วโลกอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

องค์การอนามัยโลก (World Health Organization หรือ WHO) รายงานว่า จากข้อมูลในปี 2562 พบว่า 15% ของผู้ใหญ่วัยทำงานมีความผิดปกติทางจิต และในแต่ละปี องค์กรต่าง ๆ ต้องสูญเสียวันทำงานถึง 12 พันล้านวันไปกับโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวล1 ศูนย์ให้บริการความช่วยเหลือของอินเตอร์เนชั่นแนล เอสโอเอส (International SOS Assistance Centre) ได้รับคำร้องขอความช่วยเหลือที่เกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วยทางจิตเพิ่มขึ้น 5% ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2565 สภาพแวดล้อมการทำงานที่ไม่เหมาะสม เช่น การเลือกปฏิบัติและความไม่เท่าเทียมกัน ภาระงานที่มากเกินไป การควบคุมงานในระดับต่ำ และความไม่มั่นคงในอาชีพการงาน ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิต หากไม่ได้รับการสนับสนุนที่เหมาะสม ความเจ็บป่วยทางจิตอาจส่งผลต่อความสามารถและประสิทธิภาพการทำงาน การขาดงาน รวมไปถึงการรักษาตำแหน่งงานในปัจจุบันหรือการได้งานทำ

ดร. โอลิเวอร์ แฮร์ริสัน (Dr Oliver Harrison) ซีอีโอของโคอา เฮลท์ (Koa Health) ผู้นำระดับโลกด้านบริการดูแลสุขภาพจิตแบบดิจิทัล กล่าวว่า "เราอยู่ในช่วงเวลาที่ท้าทาย ทั้งจากแรงกดดันด้านค่าครองชีพทั่วโลก การฟื้นตัวจากโรคระบาด ความขัดแย้งในยุโรป ตลอดจนวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ด้วยบริบทนี้ การมีสุขภาพจิตที่ดีจึงกลายเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งสำหรับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน พนักงานแต่ละคนนั้นใช้เวลาถึงหนึ่งในสามของชีวิตในที่ทำงาน ซึ่งหมายความว่านายจ้างจำเป็นต้องให้การสนับสนุนทางด้านสุขภาพจิตแก่พนักงาน ด้วยการป้องกันอันตราย และส่งเสริมสิทธิประโยชน์ที่ครอบคลุมและเข้าถึงง่ายสำหรับทุก ๆ คน

องค์กรต่าง ๆ จะต้องดำเนินการเพื่อให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตและสุขภาวะของพนักงานทุกคนเป็นลำดับแรก เพื่อเสริมสร้างสุขภาพทั้งของทีมงานและธุรกิจ สมาชิกในทีมจะต้องเข้าถึงการสนับสนุนทางด้านสุขภาพจิตได้ทุกที่ทุกเวลาเมื่อต้องการ ไม่ว่าจะเป็นการให้คำปรึกษาในแต่ละวัน หรือการดูแลรักษาจากแพทย์"

ดร.โรดริโก โรดริเกซ-เฟอร์นันเดซ (Dr Rodrigo Rodriguez-Fernandez) ที่ปรึกษาด้านสุขภาวะและสุขภาพจิตระหว่างประเทศ (Global Health Advisor, Wellness and Mental Health) ของอินเตอร์เนชั่นแนล เอสโอเอส กล่าวว่า "การมองข้ามปัญหาสุขภาพจิตในที่ทำงานมักจะมาพร้อมกับราคาที่ต้องจ่าย ไม่เพียงเฉพาะด้านการเงิน แต่ยังรวมไปถึงผลทางด้านอารมณ์ ซึ่งเป็นเรื่องที่เราไม่สามารถละเลยได้ เพราะทุกคนจะได้รับผลสะท้อนจากเรื่องนี้ ตั้งแต่พนักงานรายบุคคลไปจนถึงองค์กรโดยรวม และเนื่องจากบุคลากรอาจต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากเมื่อเข้ารับบริการทางด้านสุขภาพจิต องค์กรต่าง ๆ จึงจำเป็นต้องจัดทำแผนการป้องกัน ตลอดจนให้คำปรึกษาและการสนับสนุนที่เหมาะสมแก่ทีมงานในราคาที่จับต้องได้

"องค์กรที่ทุ่มเทเพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมการมีสุขภาพจิตที่ยั่งยืนนั้นเข้าใจถึงความสำคัญและความจำเป็นในการจัดเตรียมข้อมูลเชิงลึกและทรัพยากร เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกรายได้ตระหนักถึงเรื่องของสุขภาพจิต และด้วยการตระหนักถึงความสำคัญของการมีสุขภาวะทางจิตที่ดี องค์กรต่าง ๆ จึงวางแผนจัดทำโปรแกรมสุขภาพจิตแบบองค์รวมสำหรับพนักงาน การดำเนินการดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่มั่นคงและยืดหยุ่น พร้อมที่จะรับมือกับความซับซ้อนของภูมิทัศน์ในปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา" 

ดร.โอลิเวอร์ แฮร์ริสัน ซีอีโอของโคอา เฮลท์ กล่าวเสริมว่า "การขาดแคลนจิตแพทย์และนักจิตวิทยาที่ทำสถิติสูงเป็นประวัติการณ์นั้น ทำให้แม้แต่พนักงานที่เคยเข้ารับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ก็ยังประสบปัญหาในการเข้าถึงการสนับสนุนที่ตนเองต้องการ และสำหรับผู้ที่ยังไม่เคยเข้ารับการตรวจรักษา เรายิ่งมีข้อมูลน้อยลงไปอีก ซึ่งนั่นหมายความว่าพนักงานเหล่านี้อาจต้องรอจนกระทั่งอาการแย่ลง จึงจะได้รับการรักษาเพื่อให้อาการดีขึ้น

แล้วเราจะตอบสนองต่อเรื่องนี้อย่างไร? ในอนาคตนั้น ควรจะต้องมีการบูรณาการโปรแกรมสุขภาพจิตเข้ากับสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ของพนักงาน โดยไม่ควรดำเนินการแบบแยกส่วน องค์กรต่าง ๆ จะนำเทคโนโลยีมาใช้ร่วมกับมนุษย์มากขึ้นเพื่อสร้างแนวทางการดูแลสุขภาพจิตที่มีประสิทธิภาพและครอบคลุมทั่วถึง เพื่อตอบสนองความต้องการด้านสุขภาพจิตของพนักงานทุก ๆ คน"

อินเตอร์เนชั่นแนล เอสโอเอส จัดทำกรอบการทำงานสำหรับองค์กรต่าง ๆ ในการดูแลสุขภาพจิตและสุขภาวะของพนักงาน:

  1. ส่งเสริมวัฒนธรรมการทำงานที่เกื้อหนุนกัน และแสดงความมุ่งมั่นของผู้นำองค์กร: สร้างวัฒนธรรมและสภาพแวดล้อมในสถานที่ทำงานที่ให้ความสำคัญและสนับสนุนการพูดคุยกันอย่างเปิดกว้างเกี่ยวกับสุขภาพจิต ตลอดจนรวมแผนงานด้านสุขภาพจิตเข้ากับนโยบายและแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง
  2. ส่งเสริมความตระหนักรู้ด้านสุขภาพจิต: ดำเนินโครงการรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ด้านสุขภาพจิตอย่างครอบคลุม เพื่อลดการตีตราและส่งเสริมให้มีการพูดคุยกันแบบเปิดกว้าง
  3. จัดเตรียมทรัพยากรที่เข้าถึงได้: จัดเตรียมชุดเครื่องมือด้านสุขภาพจิตให้พนักงานเข้าถึงได้ง่ายเพียงแค่ปลายนิ้ว ตั้งแต่การให้คำปรึกษาไปจนถึงเครื่องมือแนะแนวตนเอง 
  4. ปรับให้เข้ากับความต้องการของแต่ละบุคคล: มีระบบการทำงานที่ยืดหยุ่นเพื่อรองรับความต้องการของแต่ละบุคคล และลดความเครียดที่เกี่ยวข้องกับงาน
  5. การฝึกอบรมและให้ความรู้: จัดการฝึกอบรมด้านสุขภาพจิตเพื่อให้ทุกคนมองเห็น เข้าใจ และช่วยเหลือเกี่ยวกับประเด็นที่เกี่ยวกับความท้าทายด้านสุขภาพจิต
  6. ติดตามและประเมินผล: ติดตามสอบถามความคิดเห็นและคอยเฝ้าระวังสุขภาพจิตของพนักงานอย่างต่อเนื่องผ่านการทำแบบสำรวจและแบบประเมิน เพื่อปรับโปรแกรมตามความจำเป็น
  7. โปรแกรมช่วยเหลือพนักงาน (Employee Assistance Programs หรือ EAPs): จัดให้มี EAPs ที่ให้คำปรึกษาที่เป็นความลับและบริการสนับสนุนแก่พนักงาน ทั้งนี้ การดูแลสุขภาพจิตแบบดิจิทัล เช่น Koa Foundations Wellbeing App จะช่วยให้องค์กรต่าง ๆ สามารถขยายผลการดำเนินโปรแกรม EAP และบริการที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตลอดจนขยายขอบเขตการเข้าถึงการดูแลรักษาพยาบาล โดยที่ยังสามารถควบคุมหรือลดค่าใช้จ่ายลงได้เป็นอย่างมาก


ที่มา:  International SOS Services (Thailand) Limited

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๕๐ รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๑๖:๑๔ ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๑๖:๑๓ Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๑๖:๑๐ ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๑๖:๕๒ โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๑๕:๒๖ กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๑๕:๐๑ สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๑๕:๒๙ 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๑๕:๐๘ โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๑๕:๕๒ electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version